โดย SPOC Team 

เมื่อ 30 พ.ค.63 ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศและคณะ จนท.ทำงานพัฒนาศักยภาพด้านภูมิสารสนเทศกองทัพอากาศได้ร่วมปฏิบัติภารกิจในการสำรวจผักตบชวาในแม่น้ำท่าจีน บริเวณ จว.นครปฐม และ  จว.สุพรรณบุรี เพื่อสนับสนุนข้อมูลในการแก้ปัญหาลำน้ำจากผักตบชวา ซึ่งผักตบชวานั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์บริเวณแม่น้ำลำคลอง แม้จะกำจัดด้วยการพ่นสารเคมีก็จะเกิดมีสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำ หรือเมื่อรวมตัวกันเป็นกอใหญ่ๆ ลอยตามน้ำไปกองรวมกันที่ใต้สะพานและประตูระบายน้ำ เมื่อฝนตกหนักหรือมี น้ำหลากก็จะทำให้น้ำระบายไม่ทัน จนทำให้น้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมลำน้ำได้  
 
spocteam 01

ภาพผักตบชวาบริเวณ พิกัด N 14.388657 E 100.169265 แม่น้ำท่าจีน จว.สุพรรณบุรี

 
กองทัพอากาศได้ตระหนักในปัญหานี้มาก่อน..โดยได้เคยจัดกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีเข้าร่วมแก้ปัญหาผักตบชวาในบางพื้นที่ ซึ่งการสำรวจผักตบชวาจากภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพถ่ายดาวเทียมแบบภาพสีผสมจริง (True Color) นั้น บางครั้งอาจจะมองเห็นแนวผักตบชวาที่ลอยมาตามลำน้ำได้ค่อนข้างยากเพราะมุมของแสง เงา ขณะทำการถ่ายภาพ..ทำให้ยากในการแปลความ และหากผักตบชวาเกิดเป็นบริเวณกว้างมากการถ่ายภาพทางอากาศเพียงครั้งเดียวอาจจะไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ที่สำคัญได้ทั้งหมด
 
อย่างไรก็ตามกองทัพอากาศได้นำเทคโนโลยีด้านอวกาศเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าว โดย ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ และคณะเจ้าหน้าที่ทำงานพัฒนาศักยภาพด้านภูมิสารสนเทศกองทัพอากาศได้รับมอบหมายภารกิจร่วมมือกันจัดทีมศึกษา และหาแนวทางการปฏิบัติภารกิจ (Concept of Operations: CONOPS) ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศได้ศึกษาเทคโนโลยีการถ่ายภาพแบบ Multispectral จากดาวเทียม Sentinel 2 และดาวเทียมต่าง ๆ ร่วมกับเทคนิคการผสมสีภาพถ่ายจากดาวเทียมในย่านความถี่ต่าง ๆ โดยเฉพาะแบบภาพสีผสมเท็จ (False Color) โดยการผสมสีภาพถ่ายย่านสีแดง สีเขียว และย่านใกล้อินฟาเรด (Near Infrared) ทำให้เห็นภาพพืช/วัชพืชออกเป็นสีแดง (ยิ่งสีแดงเข้มมากแสดงว่าหนาแน่นมาก) และพื้นน้ำเป็นสีดำอย่างเด่นชัด ทำให้สามารถสังเกตได้ง่ายขึ้น แล้วประมวลผลด้วยโปรแกรมระบบภูมิสารสนเทศต่าง ๆ โดยภาพถ่ายจากดาวเทียมดังกล่าวนั้นสามารถเห็นครอบคลุมพื้นที่ได้เป็นบริเวณกว้าง..ทำให้เราทราบตำแหน่งเป้าหมายที่มีผักตบชวาอยู่ตรงไหนของลำน้ำ..เคลื่อนที่ทิศทางใด.. มีปริมาณพื้นที่และหนาแน่นขนาดไหน...ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการวางแผนและขยายผลปฏิบัติการต่อไป
 
spocteam 02

ภาพแสดงการเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel 2 แบบ True Color กับ False Color

แสดงแนวผักตบชวาในแม่น้ำท่าจีน ต.บางช้าง อ.สามพราน จ.นครปฐม (เมื่อ 16 พ.ค.63)

 
เมื่อทราบตำแหน่งเป้าหมายแล้ว..ทีมคณะเจ้าหน้าที่ทำงานพัฒนาศักยภาพด้านภูมิสารสนเทศกองทัพอากาศจะทำการบินโดรนสำรวจโดยละเอียดเพื่อยืนยันตำแหน่งและแสดงภาพจริงจากกล้องของโดรนอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับปรับพิกัดล่าสุดของตำแหน่งผักตบชวาเป็นปัจจุบันและจัดทำข้อมูลเป็นระบบ Digital โดยข้อมูลนี้จะสามารถกระจายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำจัดผักตบชวาเพื่อใช้วางแผนต่อไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นไปตามหลักการ
 
spocteam 03

                                                             Loop และการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (NCO)

                                 ภาพแสดงการเปรียบเทียบภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel 2 แบบ False Color กับการถ่ายภาพด้วยโดร

 
จากการที่กองทัพอากาศใช้เทคโนโลยีทางอวกาศโดยเฉพาะการนำภาพถ่ายดาวเทียมค้นหาตำแหน่งผักตบชวาในภาพมุมกว้างทำให้ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสำรวจ ตลอดจนการใช้โดรนขนาดเล็กที่มีข้อจุดเด่นเรื่องข้อจำกัดด้านสภาพอากาศในการบินน้อยกว่าอากาศยานปกติในการบินพิสูจน์ยืนยันตำแหน่งและสภาพปัจจุบันนั้น..จะเป็นการเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ความรวดเร็วในการปฏิบัติ และการประมวลผล ซึ่งนับได้ว่าเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางอวกาศ ยุทโธปกรณ์ และบุคคลากรกองทัพอากาศในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในกับประเทศและประชาชน ดังคำกล่าวของ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ว่า “กองทัพอากาศพร้อมใช้ศักยภาพ คน ยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีในการสนับสนุนงานรัฐบาลและช่วยเหลือประชาชน”
 
ตัวอย่างการดูผักตบชวาด้วย False Color 16 พ.ค.63