German Aerospace Center (DLR) ได้ประกาศแผนความร่วมมือกับ Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) ในการปฏิบัติภารกิจ Destiny+ ซึ่งเป็นแผนสำหรับการร่วมสำรวจดาวเคราะห์น้อย โดยการส่งอวกาศยานในปี 2024 เพื่อไปยังดาวเคราะห์น้อย “3200 Phaethon” ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Geminids Meteor Showers ซึ่งส่งผลให้เกิดฝนดาวตกบนโลกในเดือนธันวาคมของทุกปี
 
            ภารกิจ Destiny+ เป็นการสำรวจอวกาศซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการทดสอบเทคโนโลยีของ JAXA ที่จะใช้สำหรับการสำรวจห้วงอวกาศในอนาคตโดยใช้การวางแผนวงโคจรในรูปแบบใหม่ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีที่สร้างให้ Solar Cell มีน้ำหนักน้อยลงและใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ Electric Propulsion ซึ่งทั้งสององค์กรได้มีการลงนามในสัญญาความร่วมมือในวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยทางด้าน DLR จะสนับสนุนเงินลงทุนในการพัฒนาอุปกรณ์ Dust Analyzer ซึ่งจะถูกสร้างโดย University of Stuttgart และทางด้าน JAXA จะสนับสนุนเงินลงทุนในการพัฒนาการปฏิบัติภารกิจนี้ รวมถึงระบบการส่งจรวด Epsilon ออกสู่อวกาศ ทั้งนี้ทั้งสององค์กรได้มีการเจรจาและแลกเปลี่ยนความร่วมมือในภารกิจด้านอวกาศมากกว่า 60 ภารกิจ นับตั้งแต่ปี 2016 ยกตัวอย่างที่สำคัญเช่น ภารกิจ Hayabusa2 ของ JAXA ได้มีความร่วมมือกับ DLR และ CNES (องค์กรด้านอวกาศของฝรั่งเศส) ในการสำรวจดาวเคราะห์น้อย Ryugu ในปี 2018 เป็นต้น นอกจากนี้ JAXA และ DLR ยังมีแผนในการปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของดาวอังคาร (Martian Moon Exploration Mission: MMX) ร่วมกันในอนาคตอีกด้วย
 
            แผนการสำรวจอวกาศในครั้งนี้ จะดำเนินการโดยส่งยานสำรวจซึ่งติดตั้งอุปกรณ์ Dust Analyzer และกล้องถ่ายภาพอีกสองชุด เพื่อเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อย 3200 Phaethon ในขณะที่โคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร ทั้งนี้จะใช้เวลาเดินทางรวมประมาณ 4 ปี และจะเริ่มปฏิบัติภารกิจหลังเข้าสู่วงโคจรได้ประมาณ 3 - 4 เดือนโดยเริ่มจากการทำงานของ Dust Analyzer ซึ่งใช้วัดและวิเคราะห์ค่า Cosmic Dust ตลอดการเดินทางของอวกาศยาน หากแต่ในส่วนกล้องถ่ายภาพซึ่งเป็นแบบ Multispectral จะถูกใช้งานประมาณปี 2026 โดยจะทำงานในช่วงเพียงไม่กี่วันขณะบินผ่านดาวเคราะห์น้อยที่ระยะห่างประมาณ 500 กิโลเมตร เพื่อทำการถ่ายภาพพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยในช่วงความยาวคลื่นต่างๆ ทั้งนี้ในท้ายที่สุด ทั้งสององค์กรคาดหวังว่าจะได้ทราบถึงลักษณะอนุภาคของ Cosmic Dust ที่ถูกปล่อยจากดาวเคราะห์น้อยซึ่งอาจทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเรียนรู้และเข้าใจในการกระบวนการเกิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกได้มากขึ้น
 
20201125
ภาพสาธิตภารกิจ Destiny+ จาก JAXA
 
ที่มา https://spacenews.com/germany-joins-jaxas-low-cost-deep-space-test-mission/
แปลและเรียบเรียง : น.ท.รณชัย วุฒิวิทยารักษ์