20201211 ULA LaunchSatellite
 
            เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2563 เวลา 20.09 ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับ วันศุกร์ ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ตามเวลาประเทศไทย บริษัท United Launch Alliance (ULA) ประสบความสำเร็จสำหรับการนำส่ง (Launch) ดาวเทียม NROL-44 ซึ่งของหน่วยงาน U.S. National Reconnaissance Office (NRO) จากท่าอวกาศยาน Space Launch Complex-37 ด้วยจรวดนำส่งขนาดใหญ่เดลต้าไอวี (Delta-IV Heavy Rocket) ซึ่งเป็นครั้งที่ 12 ของการส่งจรวดนำส่งรุ่นนี้ โดยการนำส่งครั้งนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อยหลังจากมีการเลื่อนการนำส่งมาหลายครั้งด้วยปัญหาของจรวดนำส่งและส่วนอำนวยการนำส่ง
 
            จรวดนำส่งเดลต้าไอวี เป็นจรวดนำส่งซึ่งประกอบด้วยสามส่วนหลัก คือ บูสเตอร์หลัก (Common Boosters Core, CBC) 3 ส่วน แต่ละตัวติดตั้งเครื่องยนต์รุ่น RS-68A สร้างโดยบริษัท Aerojet Rocketdyne ใช้เชื้อเพลิงออกซิเจนเหลวและไฮโดรเจนเหลว (Liquid Oxygen/Liquid Hydrogen) โดยแต่ละตัวให้แรงขับถึง 312.3 กิโลนิวตัน (kN) หรือประมาณ 702,000 ปอนด์ (Lbs) ทำให้แรงขับขณะยกตัวสูงถึง 2.1 ล้านปอนด์
 
            ส่วนที่ 2 หรือสเตทสอง (Second Stage) เรียกว่า (Delta Cryogenic Second Stage) ติดตั้งเครื่องยนต์ RL10B-2 สร้างโดยบริษัท Aerojet Rocketdy ใช้เชื้อเพลิงออกซิเจนเหลวและไฮโดรเจนเหลว (Liquid Oxygen/Liquid Hydrogen) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการสร้างแรงขับถึง 110.1 กิโลนิวตัน (kilo-Newtons) หรือ 24,750 ปอนด์ (lbs)
 
            สำหรับส่วนสุดท้ายเป็นส่วนเรียกว่า Payload Fairing (PLF) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร สำหรับการบรรทุกสิ่งที่จะนำไปในอวกาศ ซึ่งคือดาวเทียม NROL-44 ในภารกิจนี้
 
            หลังจากทำการยกตัว (Lift-Off) ได้เพียงเวลาสั้น จรวดนำส่งได้เปลี่ยนแปลงทิศทางเพื่อเข้าสู่เส้นทางโคจร (Flight Path) โดยเมื่อผ่านไป 4 นาทีนับจากยกตัว บูสเตอร์หลักสองตัวด้านข้างแยกตัวออกไป เหลือเพียงบูสเตอร์หลักตัวกลาง ส่วนสเตทสองและ Payload Fairing ซึ่งยังคงเคลื่อนที่ต่อไปสู่อวกาศ และเมื่อผ่านไป 6 นาที 30 วินาทีนรับจากยกตัว ส่วนสเตท 2 ได้แยกตัวออกไป เหลือเพียงส่วน Payload Fairing ที่เคลื่อนที่ไปยังความสูงสำหรับการปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร
 
            หากแต่ภารกิจ NROL-44 นี้ เป็นภารกิจของหน่วยงาน NRO ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับดาวเทียมลาดตระเวนของสหรัฐอเมริกา จึงไม่ได้แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับตำแหน่ง ความสูง และเวลาที่จะปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรสำหรับภาพสัญลักษณ์ของภารกิจนี้ เป็นรูปหมาป่า 5 ตัว ซึ่งหมายถึง กลุ่ม Five Eyes (FVEY) ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ อังกฤษและอเมริกา สำหรับความร่วมมือด้านการข่าวกรอง โดยมีภาพหมาป่าตัวหลักกำลังหอนอันแสดงถึงการแจ้งเตือนหากมีภัยอันตรายมาถึง
 
20201211 NROL 44 Mission Patch
 
ที่มาของข่าวและภาพ :
https://www.space.com/delta-iv-heavy-nrol-44-launch.html
https://www.ulalaunch.com/
https://www.nro.gov/Portals/65/documents/news/Press%20Kits/Press%20Kit_Launch_NROL-44_12-9-2020.pdf?ver=Oc5pp-9UYidbf9Y2nLLGbQ%3D%3D
https://www.dni.gov/index.php/ncsc-how-we-work/217-about/organization/icig-pages/2660-icig-fiorc
แปลและเรียบเรียง : นาวาอากาศเอก พนม อินทรัศมี