20210108 3
 
            จีนมีแผนจะนำส่งโมดูลหลักของสถานีอวกาศภายในปีนี้ หลักจากที่ภารกิจ Chang'e 5 ได้นำตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับสู่โลกสำเร็จในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1976 เป็นต้นมา และภารกิจการสำรวจดาวอังคารครั้งแรกของจีนโดยอวกาศยาน Tianwen-1 (TW-1) มีกำหนดถึงดาวเคราะห์สีแดงในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งหลังจากนั้นอีกไม่นานจีนมีแผนที่จะเริ่มประกอบสถานีอวกาศของตนเองในวงโคจรโลก
 
            อุปกรณ์ต่าง ๆนี้มีกำหนดจะนำขึ้นสู่อวกาศในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นโมดูลหลักของสถานีอวกาศ หรือที่เรียกว่า Tianhe ("Joining of the Heavens") โดยจะเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยและการช่วยเหลือชีวิตสำหรับนักบินอวกาศซึ่ง Tianhe จะมีความยาว 59 ฟุต (18 เมตร) และหนักประมาณ 24 ตัน (22 เมตริกตัน) และจะใช้จรวดขนส่ง Long March 5B ในการนำส่งขึ้นสู่อวกาศจาก Wenchang Satellite Launch Center บนเกาะไหหลำของประเทศจีน ในการนำส่งของ Tianhe นี้จะมีภารกิจเกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็วเพิ่มอีก 11 ภารกิจ ซึ่งจีนมีแผนที่ต้องการสร้างให้เสร็จภายในปี 2565
 
            สถานีอวกาศที่สร้างเสร็จแล้วคาดว่าจะมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) โดยประมาณ 20% ซึ่งดำเนินการโดยความร่วมมือ 15 ประเทศไม่รวมจีน หากเป็นเช่นนั้นสถานีอวกาศของจีนจะมีขนาดใกล้เคียงกับสถานีอวกาศเมียร์ ( MIR Space Station ) สถานีอวกาศเก่าของรัสเซีย ซึ่งถูกปลดประจำการไปแล้วในปี 2544
 
            จีนเตรียมพร้อมสำหรับการนำส่ง Tianhe มาหลายปีแล้ว ซึ่งจีนได้สร้างสถานีอวกาศต้นแบบแห่งแรกที่เรียกว่า Tiangong-1 ในปี 2554 และอีกแห่งหนึ่งคือ Tiangong-2 ในปี 2559 โดยนักบินอวกาศของจีนได้ไปประจำการในห้องปฏิบัติการอวกาศทั้งสองแห่งนี้ ด้วยอวกาศยานของจีนชื่อ Shenzhou และในปี 2560 อวกาศยานไร้คนขับ Tianzhou-1 ซึ่งใช้ในการขนส่งเสบียงได้ไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศ Tiangong-2 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการการเชื่อมต่อและการเติมเชื้อเพลิงอัตโนมัติหลายครั้งในระหว่างปฏิบัติภารกิจ
 
ที่มา : https://www.space.com/china-space-station-core-module-launch-spring-2021
แปลและเรียบเรียง : พ.อ.ต.ธีรพงษ์ เข็มทอง