ภาพของทุ่งเนินทรายที่ปรากฏให้เห็นนั้น เป็นภาพบริเวณศูนย์กลางของหลุมอุกกาบาตที่มีชื่อว่า Lomonosov ซึ่งตั้งอยู่บริเวณซีกโลกเหนือของดาวอังคาร (65ºN, 351ºE) โดยภาพนี้ถูกถ่ายไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ด้วยกล้อง CaSSIS จากอวกาศยานสำรวจ Trace Gas Orbiter (TGO) ของโครงการ ExoMars ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การอวกาศสหพันธรัฐรัสเซีย (Roscosmos) ภาพดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของทุ่งเนินทรายทรายบนดาวอังคารในห้วงหนึ่งปี
 
20210317 1
ภาพถ่ายบริเวณศูนย์กลางของหลุมอุกกาบาตที่มีชื่อว่า Lomonosov จากกล้อง CaSSIS จากอวกาศยานสำรวจ Trace Gas Orbiter (TGO)
(แหล่งที่มา: The European Space Agency)
 
            ที่ผ่านมาในห้วงเวลาที่ภาพนี้ถูกถ่ายนั้น เป็นช่วงที่ฤดูหนาวบริเวณซีกโลกเหนือของดาวอังคารกำลังสิ้นสุดลงและน้ำแข็งที่ปกคลุมบริเวณนี้ก็เริ่มที่จะระเหิด โดยบริเวณที่เป็นจุดสีเข้มนั้นบ่งชี้ว่าน้ำแข็งได้ระเหิดออกซึ่งแสดงให้เห็นถึงเนินทรายหินบะซอลต์สีเข้ม ซึ่งบริเวณสันของเนินทรายนั้นสามารถบ่งบอกถึงแนวทิศทางลมซึ่งส่วนมากมาจากบริเวณมุมล่างซ้ายและพัดไปยังมุมบนขวาของภาพ ยิ่งสีบริเวณใดมีความเข้มมากยิ่งสามารถทำให้สังเกตเห็นการสะสมของหินบะซอลท์ที่ไม่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งได้ง่ายยิ่งขึ้น
 
อวกาศยาน TGO ถูกส่งขึ้นจากฐานปล่อยจรวดไบโคนัวร์ สาธารณรัฐคาซัคสถานเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2559 โดยใช้เวลาในการเดินทางถึงดาวอังคารใน 7 เดือนถัดมา และใช้เวลาถัดจากนั้นอีกหลายเดือนในการทดลองเทคนิคการลงจอดแบบ “Aerobraking” หรือการใช้ชั้นบรรยากาศชั้นบนสุดของดาวอังคารในการสร้างแรงต้านและทำให้อวกาศยานนั้นมีความเร็วลดลง
 
            อวกาศยาน TGO ได้เริ่มปฏิบัติภารกิจเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๖๑ โดยอาศัย 4 อุปกรณ์หลักอันได้แก่ NOMAD และ ACS spectrometers ที่ถูกออกแบบมาให้ทำการตรวจจับก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ซึ่งที่ผ่านมาสามารถตรวจพบก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ (HCl) ในชั้นบรรยากาศได้เป็นครั้งแรก และนอกจากนี้ยังสามารถศึกษากระบวนการและเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงถึงการสูญเสียน้ำในชั้นบรรยากาศของดาวอังคารได้มากกว่าที่เคยเป็นมา
 
20210317 2
ภาพจำลองอวกาศยานสำรวจ Trace Gas Orbiter (TGO) (แหล่งที่มา: The European Space Agency)
 
            อุปกรณ์ถัดมามีชื่อว่า FREND มีหน้าที่ในการทำแผนที่การกระจายตัวของก๊าซไฮโดรเจนบริเวณจุดสูงสุดของดาวอังคาร โดยจะทำการออกแบบแผนที่ของบริเวณที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีแหล่งน้ำบนดาวอังคาร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสำรวจในอนาคต และอุปกรณ์ชิ้นสุดท้ายคือกล้อง CaSSIS ซึ่งสามารถถ่ายภาพพื้นผิวของดาวอังคารได้มากกว่า 20,000 ภาพและช่วยเติมเต็มข้อมูลที่ได้รับจากอุปกรณ์ชิ้นอื่น ๆ เพื่อช่วยในการหาหลักฐานทางกายภาพที่อาจเชื่อมโยงถึงแหล่งกำเนิดก๊าซต่าง ๆ บนดาวอังคาร
 
            นอกจากภารกิจหลังข้างต้นแล้ว TGO ยังมีภารกิจประจำวันในการถ่ายทอดข้อมูลต่าง ๆ ให้กับอวกาศยานต่าง ๆ ขององค์การนาซ่าได้แก่ Opportunity, Curiosity, Insight และ Perseverance และจะทำหน้าที่ในการเป็นตัวเชื่อมโยงการสื่อสาร ให้กับอวกาศยาน Rosalind Franklin และ Kazachok ที่จะเดินทางมาถึงในปีพ.ศ.2566 นี้
 
ที่มาของข่าวและภาพ : https://www.esa.int/ESA_Multimedia/Images/2021/03/Dynamic_dunes#.YFFe1jKbK1c.link
แปลและเรียบเรียง : ร.ท.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน