เกิดจากเทคโนโลยีของจรวด V-2 ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหนึ่งในจรวดที่ทรงพลังที่สุดของสหรัฐฯ ในห้วงยุค 60 -70 ออกแบบมาเพื่อนำนักบินอวกาศเดินทางสู่ดวงจันทร์และกลับมายังโลก นำนักบินอวกาศทั้งหมด 24 คนสู่ดวงจันทร์ และทำภารกิจทั้งสิ้น 13 เที่ยวบินที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ จรวด “Saturn V”!
 
            Saturn V ถูกออกแบบมาเพื่อพานักบินอวกาศในโครงการ Apollo จำนวน 3 คนไปยังดวงจันทร์ในแต่ละเที่ยว Saturn V ได้ทำการบินทดสอบครั้งแรกในปี 1967 โดยไร้คนขับ หลังจากนั้นก็ทำภารกิจทั้งหมดรวมเวลา 6 ปี (1967 – 1973) ที่จรวดชุดนี้รับใช้ชาติ โดยทำภารกิจโครงการ Apollo และโครงการสถานีอวกาศ Skylab โดยทุกส่วนของจรวดยักษ์นี้ถูกใช้แล้วทิ้งระหว่างปฏิบัติภารกิจ จะมีเพียงโมดูลเล็ก ๆ เท่านั้นที่นำพานักบินอวกาศกลับสู่โลก
 
20210329 1
 
            จรวด Saturn V แบ่งออกเป็น 3 ส่วน(Stage) ในส่วนแรก (S-IC first stage) จะบรรทุกเชื้อเพลิง kerosene fuel จำนวน 203,400 แกลลอน (770,000 ลิตร) และออกซิเจนเหลวจำนวน 318,000 แกลลอน (1.2 ล้านลิตร) ที่จำเป็นสำหรับจุดระเบิดและสร้างแรงขับ 7.5 ล้านปอนด์ให้กับเครื่องยนต์จรวดแบบ F-1 จำนวน 5 เครื่อง เมื่อถึงระดับความสูง 42 ไมล์ (67 กม.) เหนือพื้นโลก เครื่องยนต์ F-1 จะดับลง และส่วน S-IC นี้จะถูกปลดออกจากจรวดหลัก ตกลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก หลังจากนั้น ส่วนที่สอง (S-II second stage) ซึ่งบรรจุเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลวจำนวน 260,000 แกลลอน (984,000 ลิตร) และออกซิเจนเหลว 80,000 แกลลอน (303,000 ลิตร) จะทำงานเพื่อนำพาจรวดทะยานสู่ห้วงอวกาศและจะทำงานในระยะทางทางดิ่งเพียง 19 ไมล์ (30 กม.) หลังจากนั้นส่วนที่สองจะถูกปลดออก เพื่อที่จะให้ส่วนที่สาม (S-IVB third stage) รับช่วงต่อ ในส่วนนี้จะบรรจุเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเหลวจำนวน 66,700 แกลลอน (252,750 ลิตร) และออกซิเจนเหลว 19,359 แกลลอน (73,280 ลิตร) ซึ่งเพียงพอที่จะพา Saturn V ไปด้วยความเร็วที่เหมาะสมจนเข้าสู่วงโคจรโลกที่ต้องการ และจะดับเครื่องยนต์ลง ทั้งหมดนี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 11 นาที 39 วินาทีหลังการปล่อยจรวด หลังจากนั้นประมาณสองชั่วโมงครึ่ง เครื่องยนต์จะถูกจุดระเบิดอีกครั้งเพื่อส่งอวกาศยาน Apollo ออกจากวงโคจรของโลก และเดินทางไปยังดวงจันทร์ต่อไป
 
            หลังจากพานักบินอวกาศ และอวกาศยาน Apollo สู่ดวงจันทร์แล้ว ส่วนที่สามหรือส่วนสุดท้ายที่เหลืออยู่ของ Saturn V นี้ จะถูกปลดออกสู่ห้วงอวกาศ และตกสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ในที่สุด เพื่อให้อวกาศยาน Apollo ได้ทำภารกิจของตนต่อไป เป็นอันจบภารกิจการเดินทางของจรวด Saturn V
 
ที่มา : https://www.space.com/18422-apollo-saturn-v-moon-rocket-nasa-infographic.html
แปลและเรียบเรียง : ricebird572