พิมพ์
หมวดหลัก: กองลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ
หมวด: ข่าวเทคโนโลยีอวกาศ
            ดาวเทียมมากกว่า 3,000 ดวงที่โคจรรอบโลกอยู่ในขณะนี้ได้ส่องแสงกลับมายังพื้นโลก ทำให้ปัจจุบันไม่มีพื้นที่ใดบนโลกที่มืดสนิทอีกต่อไป ซ้ำร้ายการริเริ่มสร้างโครงข่ายดาวเทียมขนาดยักษ์หรือ Mega-Constellation of Satellites จะยิ่งสร้างปัญหามลพิษทางแสงมากยิ่งขึ้น
 
            ปัจจุบันนี้มีมนุษย์อยู่เพียงส่วนน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณที่ในตอนกลางคืนมีความมืดสนิทพอที่จะทำให้สามารถมองเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน และร้อยละ 83 ของประชากรโลกทั้งหมดอาศัยอยู่บริเวณที่ท้องฟ้าตลอดยามค่ำคืนนั้นสว่างไสวด้วยแสงไฟจากถนน โรงงาน สำนักงาน หรืออาคารที่พัก ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางแสง โดยจากการศึกษาพบว่าในทุก ๆ ปีนั้น พื้นที่ที่มีแสงสว่างได้ขยายตัวและทำให้ท้องฟ้าสว่างมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มปริมาณการใช้งานหลอดไฟแบบ LED ที่มีราคาถูกและประหยัดพลังงาน
 
            อย่างไรก็ตาม มลพิษทางแสงนั้นไม่ได้เกิดจากวัตถุที่อยู่บนพื้นโลกแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทีมนักวิจัยของนายมิโรสลาฟ โคซิฟาจ (Miroslav Kocifaj) จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐสโลวัก ได้เปิดเผยข้อมูลว่าดาวเทียมนับพันดวงที่โคจรอยู่รอบโลกได้ทำลายความมืดในยามค่ำคืน และคาดว่าหากผลกระทบจากดาวเทียมเหล่านี้ทำให้ท้องฟ้าสว่างขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ จะมากพอที่จะทำให้มนุษย์ไม่สามารถที่จะสังเกตการณ์ท้องฟ้าในยามค่ำคืนได้อีกต่อไป
 
            จากข้อมูลเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าดาวเทียมมากกว่า 3,300 ดวงตลอดจนขยะอวกาศอีกกว่าหลายหมื่นชิ้น โดยเฉพาะวัตถุชิ้นใหญ่ ๆ นั้น สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพราะว่าวัตถุเหล่านี้สะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์กลับมายังพื้นโลกทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน
 
20210405 1
ภาพแสงสะท้อนจากดาวเทียม Starlink ของบริษัท SpaceX (แหล่งที่มา: Bild.de)
 

แสงสะท้อนจากดาวเทียมหลายพันดวงอาจทำให้กล้องโทรทรรศน์ไม่สามารถใช้งานได้

            ปัญหานี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักดาราศาสตร์ เพราะปกติแล้วหอดูดาวมักจะสร้างในบริเวณที่ห่างไกลเพื่อหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีแสงสว่างมาก เช่น บริเวณทะเลทรายอตาคามา ประเทศชิลี เป็นต้น อย่างไรก็ตามนักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถหาทางออกในการจัดการกับแสงสว่างที่เกิดจากภายนอกโลกได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเมื่อมีการถ่ายภาพวัตถุในอวกาศด้วยการเปิดหน้ากล้องเป็นเวลานานนั้น มักจะเกิดรอยของแสงบนรูปภาพที่ถ่ายได้ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของดาวเทียม

 
            นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์แล้ว ทีมนักวิจัยกลุ่มดังกล่าวยังได้ทำการศึกษาผลกระทบโดยรวมจากการส่องแสงของวัตถุในอวกาศกับความสว่างในเวลากลางคืน และได้เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Skyglow Effect หรือปรากฏการณ์ท้องฟ้าอันเปล่งประกายแวววาว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วท้องฟ้าตอนกลางคืนนั้นจะมีความสว่างอยู่ที่ระดับประมาณ 200 ไมโครแคนเดลา แต่ว่าแสงสะท้อนจากดาวเทียมและขยะอวกาศทำให้ท้องฟ้าสว่างเพิ่มขึ้นราว 20 ไมโครแคนเดลาต่อหนึ่งตารางเมตรหรือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และเป็นค่าความสว่างสูงสุดที่สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลหรือ IAU ได้ขีดเส้นเอาไว้สำหรับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์
 
            ปรากฎการณ์ดังกล่าวจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการบุกเบิกการสร้างโครงข่ายดาวเทียมขนาดยักษ์หรือ Mega-Constellation of Satellites ซึ่งบริษัทชั้นนำด้านอวกาศอย่าง SpaceX ก็ได้ประกาศที่จะส่งดาวเทียมหลายหมื่นดวงขึ้นไปบนท้องฟ้า เพื่อที่จะทำให้ผู้คนที่อยู่ในทุกพื้นที่ทั่วโลกได้เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยเพียงแค่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท SpaceX สามารถส่งดาวเทียมขนาด Mini-Satellite ขึ้นไปแล้ว 240 ดวง ทั้งนี้ IAU ได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อเตือนสหประชาชาติว่าโครงข่ายดาวเทียมอาจสร้างผลกระทบด้านการสำรวจอวกาศจากพื้นโลก และอาจทำให้ภาพถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์จำนวนมากกว่าร้อยละ 40 ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์หรือใช้งานได้
 
ที่มาของข่าว : https://www.sueddeutsche.de/wissen/satelliten-lichtverschmutzung-nachthimmel-helligkeit-teleskop-1.5251441
แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน