เมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1985 เวลา 1242 ที่ความสูง 36,000 ฟิต เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก นาวาอากาศตรี Wilbert “Doug” Pearson แห่ง ทอ.สหรัฐฯ ทำการเหนี่ยวไกกดปุ่มปล่อยจรวดนำวิถีแบบ ASM-135A Anti-Satellite (ASAT) Missile จากเครื่องบินขับไล่แบบ F-15A Eagle โดยในขณะนั้น Wibert ต้องบิน F-15A คู่ใจ ที่ความเร็ว 1.2 มัค ทำมุมไต่ 65 องศา และร่างกายของเขาต้องรับภารกรรมแรง G ที่ 3.8 เท่า ASM-135A หลุดจากรางปล่อยใต้ท้อง และจุดตัวห่างจาก F-15 หลังจากนั้นก็พุ่งทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เข้าทำลายดาวเทียมเป้าหมายที่มีความเร็ว 24,140 กม./ชม. และอยู่ที่ความสูงเหนือพื้นโลกประมาณ 500 กม. นับเป็นเสืออากาศคนแรกของโลก ที่ทำแต้ม “First Kill Satellite”
 
20210107 4
F-15A launches an ASM-135 ASAT missile on Sept. 13, 1985. (USAF photo)
 
            ในยุคสงครามเย็นที่มีการแข่งขันกันทางด้านการสะสมกำลังทางทหารระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต(ในขณะนั้น) การเข้าไปจารกรรมถ่ายภาพที่ตั้งทางทหารโดยเฉพาะความเคลื่อนไหว, ที่ตั้งขีปนาวุธข้ามทวีปของฝ่ายตรงข้าม เป็นเป้าหมายสำคัญของทั้ง 2 ฝ่าย สหรัฐฯ ใช้เครื่องบินจารกรรมบินรุกล้ำเขตแดนเข้าไปปฏิบัติการ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกตรวจจับ และมีโอกาสที่จะสูญเสียนักบินจากการถูกยิงตกเนื่องจากอาวุธปล่อยพื้นสู่อากาศที่มีระยะยิงที่สูงมากแบบ SA-2 แต่ห้วงอากาศเหนือพื้นโลกขึ้นไป 100 กม. อวกาศไม่มีเขตแดน! ทุกฝ่ายสามารถปฏิบัติการได้อย่างอิสระ การใช้ดาวเทียมเพื่อการจารกรรมจึงเกิดขึ้น แต่โครงการ ASAT นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากความกลัวดาวเทียมจารกรรมของฝ่ายโซเวียต สิ่งที่สหรัฐฯ ในยุคนั้นตระหนักที่สุดคือ ดาวเทียมติดอาวุธปล่อยหัวรบนิวเคลียร์ จึงได้มีการพัฒนาแนวคิดเรื่อยมาแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.1978 ปธน.Jimmy Carter ได้สั่งการให้ ทอ.สหรัฐฯ พัฒนาระบบต่อต้านดาวเทียมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากโซเวียตได้ประสบความสำเร็จในการสร้างดาวเทียม “Attack Satellite” ที่สามารถทำลายหรือสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายตรงข้ามขึ้นมา
 
            ASM-135A มีความยาว 5.48 ม. ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50.8 ซม. น้ำหนักรวม 1,180 กก. ความเร็วสูงสุด 14,260 กม./ชม. ระยะยิง 648 กม. นำวิถีด้วยอินฟราเรด ที่สำคัญไม่มีหัวรบ! เมื่อเข้าสู่เป้าหมายจรวดจะทำลายเป้าหมาย ด้วยการเข้าชนด้วยความเร็วดังกล่าว สำหรับส่วนขับดันนั้น มีส่วนขับดัน 2 ส่วน โดยทั้ง 2 ส่วน ใช้เชื้อเพลิงแข็งเป็นตัวขับดัน หลังจากออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกจะเคลื่อนที่ด้วยแรงเฉื่อยเข้าสู่เป้าหมาย การเข้าสู่เป้าหมายจะถูกควบคุมด้วย Miniature Homing Vehicle (MHV) ซึ่งนำวิถีด้วยอินฟราเรด และเข้าชนเพื่อทำลายเป้าหมายในอวกาศ สำหรับการทดสอบยิงจริงเมื่อวันที่ 13 ก.ย.1985 ใช้ดาวเทียมเป้าหมายคือ ดาวเทียม Solwind P78-1 อยู่ในวงโคจรระดับต่ำ หรือ LEO ที่ความสูงเหนือพื้นโลกประมาณ 525 กม.ที่ความเร็ว 24,140 กม./ชม. ซึ่งหมดอายุการใช้งานแล้ว ในการทดสอบ ASAT สามารถทำลาย P78-1 ได้ แต่ก่อให้เกิดขยะอวกาศกว่า 285 ชิ้นล่องลอยอยู่ในวงโคจรโลก บางส่วนยังโคจรอยู่จนถึงปี 2008 สำหรับแผนการผลิต ASAT สหรัฐฯวางแผนจะผลิตจำนวน 112 ลูก แต่โครงการนี้ได้ถูกยกเลิกไปในปี 1988 เนื่องจากงบประมาณจำนวนมากที่ลงทุนไปกับโครงการนี้ ประกอบกับข้อตกลงในการจำกัดอาวุธเพื่อลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และโซเวียต จึงผลิตเพียง 15 ลูก และทำการทดสอบเพียง 5 ครั้งเท่านั้น
 
            ในปัจจุบันที่เทคโนโลยี ASAT ได้ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น การใช้จรวดนำวิถี ASAT ติดตั้งบนอากาศยาน บินขึ้นไปยิงทำลายดาวเทียม กลายเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมการพอสมควร อากาศยานเองจะต้องได้รับการปรับปรุงให้รองรับกับระบบอาวุธ และต้องใช้เวลาในการบินขึ้นไปที่ระดับความสูงที่เหมาะสม และความเร็วที่มากพอก่อนจะปล่อยจรวด รวมทั้งอากาศยานในขณะนั้นจะง่ายต่อการถูกโจมตี แนวคิดพัฒนาระบบต่อต้านดาวเทียมจึงเปลี่ยนไปในรูปแบบต่างๆ เช่นการยิงจากพื้นดิน จากเรือรบ การใช้แสงเลเซอร์ยิงจากภาคพื้น แต่การยิงทำลายลักษณะนี้จะเป็นการสร้างมลภาวะในอวกาศ เกิดขยะอวกาศอันเนื่องมาจากชิ้นส่วนของทั้งดาวเทียมเอง และอาวุธปล่อยที่ยิงขึ้นมา ดังนั้นแนวคิดในการใช้ “Attack Satellite” ที่มีแรงขับสามารถเปลี่ยนวงโคจรได้เอง ยากต่อการตรวจจับ และมียุทโธปกรณ์ที่สามารถทำให้ดาวเทียมเป้าหมายอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้การได้ จึงเป็นทางออกที่ดีของการทำสงครามในอวกาศยุคปัจจุบันและอนาคต สำหรับประเทศที่ได้ทำการพัฒนาระบบ ASAT แล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ, รัสเซีย, จีน, อินเดีย และอิสราเอล
 
ที่มา
https://en.wikipedia.org/wiki/ASM-135_ASAT
https://www.airspacemag.com/military-aviation/first-space-ace-180968349/
https://www.airforcemag.com/article/0209tomato/
https://www.nationalmuseum.af.mil/Visit/Museum-Exhibits/Fact-Sheets/Display/Article/198034/asm-135-asat/
แปลและเรียบเรียง : น.อ.สรยุธ จันทราชา