Part 3: HAPS สถานภาพในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
            หลังจากที่ได้รับทราบเกี่ยวกับข้อมูลเบื้องต้น และลักษณะการทำงานของเทคโนโลยี HAPS ไปแล้ว ใน Part นี้ จะมาลองดูสถานภาพในปัจจุบันตลอดจนแนวโน้มในอนาคตของเทคโนโลยีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร โดยในปัจจุบันเทคโนโลยี HAPS นับเป็นแนวทางใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายถึงประโยชน์ โดยเฉพาะด้านความยืดหยุ่นของลักษณะการใช้งานที่จะเป็นส่วนเติมเต็มของช่องว่างระหว่างการใช้งานดาวเทียมกับโดรน แต่ต้องยอมรับว่าด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันยังคงมีปัญหาในด้านความน่าเชื่อถือ (Reliability) ของ Platform ที่ยังเป็นสิ่งท้าทายสำหรับผู้พัฒนาระบบ แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีการใช้งาน HAPS ในการปฏิบัติภารกิจจริง แต่เมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ร่วมกับแนวโน้มในพัฒนาการของเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้สนับสนุน ตลอดจนความต้องการใช้งานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นตัวผลักดันที่สำคัญของเทคโนโลยี HAPS ทำให้เชื่อได้ว่าเทคโนโลยี HAPS จะสามารถนำมาใช้งานจริงได้ในอนาคตอันใกล้
 
            ในปี ค.ศ.2017 องค์กรด้านอวกาศแห่งยุโรป European Space Agency (ESA) ได้ให้ทุนสนับสนุนในโครงการ HAPPIEST: High Altitude Pseudo-satellites: Proposal of Initiatives to Enhance Satellite Telecommunications ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย Leon, บริษัท Thales Alenia Space, Airobotics และ Elecnor สำหรับทำการศึกษาและวิจัยแนวโน้มการใช้งานในอนาคตของ HAPS ผลการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการใช้งาน HAPS กับระบบการสื่อสาร โดยมุ่งเน้นไปยังการเพิ่มประสิทธิภาพจากการใช้งานดาวเทียมสื่อสารตามปกติ HAPPISET TEAM ยังได้ออกแบบต้นแบบของ Stratospheric Balloons ที่มีความยาวถึง 181 เมตร น้ำหนัก 16 ตัน และสามารถบรรทุก Payload ได้ถึง 250 กิโลกรัม โดยคาดว่าจะสามารถพัฒนาให้ใช้งานจริงได้ในปี ค.ศ.2025 นอกจากนี้ยังมีผลการวิเคราะห์ในปี ค.ศ.2020 ของ Northern Sky Research (NSR) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์การตลาดในอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศ ที่ได้คาดการณ์มูลค่าผลตอบแทนสะสมที่จะได้รับจาการให้บริการ HAPS ในช่วง 10 ปีนี้ (ค.ศ.2020 – 2030) ไว้ถึงประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือสูงถึงราว 120,000 ล้านบาท โดยคำนวณรวมจากความต้องการใช้งานทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐบาล
 
20210112 120210112 2
ภาพ HAPS ต้นแบบที่ได้รับการออกแบบจาก HAPPIEST TEAM
 
            ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้หลายองค์กรด้านอวกาศและการบินทุ่มเทความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยี HAPS ให้สามารถนำมาใช้งานจริงโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในด้าน Communication และ Earth Observation เพราะมั่นใจในความคุ้มค่าสำหรับผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคต โดยในปัจจุบันพบว่ามีผู้เล่นที่ต้องการจะมีบทบาทในการเริ่มใช้งานเทคโนโลยีนี้อยู่หลายราย ซึ่งผู้เล่นรายสำคัญที่ได้รับการจับตามองจะเป็น บริษัท Airbus ซึ่งมีความชำนาญในส่วนอากาศยานและดาวเทียม ที่ร่วมมือกับบริษัทด้านการสื่อสารอย่าง HISPASAT ริเริ่มทำการวิจัยสำหรับการสร้าง HAPS ในรูปแบบของอากาศยาน ที่เรียกว่า Zephyr, กลุ่ม HAPSMobile ที่ได้สร้างอากาศยานแบบ Sunglider, NASA ที่พัฒนาอากาศยานแบบ Pathfinder และ Helios, บริษัท Boeing ที่พัฒนาอากาศยานแบบ Phantom Eye และบริษัท Facebook ที่ร่วมมือกับบริษัท Ascenta ของอังกฤษในการสร้างอากาศยาน Aquila เป็นต้น สำหรับใน Part ต่อไป จะเป็น Part สุดท้ายของเรื่อง HAPS ที่จะกล่าวถึง HAPS ที่สำคัญของบริษัทต่าง ๆ ดังกล่าว ให้ได้เห็นกันว่ามันมีหน้าตาเป็นอย่างไร และมีความก้าวหน้าในการดำเนินการไปถึงไหนกันแล้วบ้าง
 

ที่มา
https://www.esa.int/Enabling_Support/Preparing_for_the_Future/Discovery_and_Preparation/Could_High-Altitude_Pseudo-Satellites_Transform_the_Space_Industry

https://finabel.org/stratobus-a-feature-hybrid-of-unmanned-air-vehicles-for-the-european-air-defence-structure/

แปลและเรียบเรียง : น.ท.รณชัย วุฒิวิทยารักษ์