The Development of Space Affairs Supporting the National Strategy

นาวาอากาศเอก พนม อินทรัศมี
ผู้อำนวยการกองลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ ศปอว.ทอ.


แนวคิดการดำเนินการกิจการอวกาศรองรับยุทธศาสตร์ชาติ
            ยุทธศาสตร์ชาติคือเป้าหมายของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามช่วงเวลาที่กำหนด มุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนดำเนินการและพัฒนากิจกรรมให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกิจการอวกาศเป็นกิจการด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถสร้างผลประโยชน์แห่งชาติหากมีแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ดำเนินการอย่างต่อเนื่องและได้รับการร่วมมือและสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ย่อมส่งผลให้เกิดผลประโยชน์แห่งชาติสอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ในอนาคต
 
ยุทธศาสตร์ชาติและกิจการอวกาศของไทย
            รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๕ กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องและบูรณาการเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายของชาติ ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติฉบับปัจจุบัน คือ ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.๒๕๖๑ – ๒๕๘๐)
 
            กิจการอวกาศเป็นรูปแบบและเครื่องมือสำหรับการแสวงหาผลประโยชน์ของชาติในแต่ละประเทศ โดยมีการศึกษาทฤษฎีเทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Aerospace Technology) อย่างต่อเนื่องและนำมาประยุกต์ สำหรับสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) คืออวกาศยาน (Spacecraft) และส่วนประกอบด้านอวกาศอื่น ด้วยวัตถุประสงค์ในการเดินทางไปในอวกาศเพื่อสำรวจสภาพอวกาศและใช้พื้นที่ในอวกาศ ตลอดจนการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มในอวกาศเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อมนุษยชาติอันเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนกิจการด้านนี้
 
            การดำเนินการด้านกิจการอวกาศของประเทศไทยมีดำเนินการโดยภาครัฐและภาคเอกชนโดยได้ถือสิทธิการครอบครองดาวเทียม (Satellite) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านอวกาศที่สำคัญสำหรับการให้บริการในรูปแบบด้านภูมิสารสนเทศและด้านการสื่อสาร รวมทั้งการประยุกต์ใช้ดาวเทียมสำหรับกิจการความมั่งคงของประเทศ อีกทั้งมีหน่วยงานด้านการกำกับดูแล กฎ และระเบียบ ทั้งด้านกิจการอวกาศและด้านโทรคมนาคมสื่อสารในอวกาศ หากแต่ประเด็นสำคัญคือดาวเทียมและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมได้รับการสร้างโดยบริษัทต่างประเทศและยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งรูปแบบการดำเนินการนั้นเป็นลักษณะการใช้งาน (Usage) มากกว่าการสร้างหรือพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศของไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยหากเกิดสถานการณ์ในลักษณะการหยุดการดำเนินการหรือการช่วยเหลือในกิจการอวกาศจากต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการใช้งานที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศไทย
 

ประเด็นที่สำคัญของยุทธศาสตร์ชาติและกิจการอวกาศ

๑. ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ คือ
          - ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง ประเด็นที่ ๔ ดังนี้
                      หัวข้อ ๔.๒.๒ การติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่อาจอุบัติขึ้นใหม่
                      หัวข้อ ๔.๓.๑ การพัฒนาระบบงานข่าวกรองแห่งชาติแบบบูรณาการอย่างมี ประสิทธิภาพ
                      หัวข้อ ๔.๓.๒ การพัฒนาและผนึกพลังอำนาจแห่งชาติ กองทัพและหน่วยงานความมั่นคง รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้พร้อมป้องกันและรักษาอธิปไตยของประเทศ และเผชิญกับภัยคุกคามได้ทุกมิติทุกรูปแบบและทุกระดับ
          - ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นที่ ๔ ดังนี้
                      หัวข้อ ๔.๒.๓ อุตสาหกรรมการบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์
                      หัวข้อ ๔.๒.๔ อุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติกส์
                      หัวข้อ ๔.๒.๕ อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ
                      หัวข้อ ๔.๔.๑ เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไร้รอยต่อ
                      หัวข้อ ๔.๔.๒ สร้างและพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
                      หัวข้อ ๔.๔.๓ เพิ่มพื้นที่และเมืองเศรษฐกิจ
                      หัวข้อ ๔.๔.๔ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่
                      หัวข้อ ๔.๕.๑ สร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะ
                      หัวข้อ ๔.๕.๓ สร้างโอกาสเข้าถึงตลาด
          - ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นที่ ๔ ดังนี้
                      หัวข้อ ๔.๔.๒ การสร้างเส้นทางอาชีพ สภาพแวดล้อมการทำงานและระบบการสนับสนุนที่เหมาะสมสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษผ่านกลไกต่าง ๆ
                      หัวข้อ ๔.๔.๓ การดึงดูดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่างชาติและคนไทยที่มีความสามารถในต่างประเทศ
ให้มาสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประเทศ๑
ดังนั้นเห็นได้ว่ากิจการอวกาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ชาติในหลายมิติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการพัฒนากิจการอวกาศย่อมส่งผลกับประเด็นที่เกี่ยวข้องในรูปแบบที่แตกต่างกัน

๒. กิจการอวกาศ คือ กิจกรรมอวกาศและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศ ไม่ว่าจะกระทำในอวกาศ อากาศ หรือพื้นผิวโลก ทั้งนี้ไม่รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศที่มีกฎหมายอื่นใดกำหนดเป็นการเฉพาะ๒

๓. ส่วนประกอบด้านอวกาศ (รายละเอียดภาพที่ ๑) ประกอบด้วยสามส่วน คือ ส่วนอวกาศ (Space Segment) หมายถึง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอวกาศในอวกาศ ซึ่งคือ อวกาศยานทั้งประเภทเคลื่อนที่และอยู่นิ่งในอวกาศ สำหรับส่วนอวกาศในที่นี้คือ ดาวเทียม ส่วนที่สองคือส่วนภาคพื้น (Ground Segment) ประกอบด้วยส่วนย่อยคือ สถานีภาคพื้น (Ground Station) มีอุปกรณ์รับส่งสัญญาณหรือสายอากาศ (Antenna) และศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Command and Control Center) ทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการทำงานส่วนอวกาศรวมถึงส่วนภาคพื้น โดยสามารถปฏิบัติงานในพื้นที่เดียวกันหรือส่วนควบคุมและสั่งการ

 
01 art
ภาพที่ ๑ ส่วนประกอบด้านอวกาศ
 
            ระยะไกล (Remote Command and Control Terminal) สิ่งสำคัญของส่วนภาคพื้นอีกส่วนคือส่วนนำส่ง (Launch Facility) รับผิดชอบการดำเนินการของจรวดนำส่ง (Launcher) สำหรับส่งดาวเทียมหรือสิ่งใดๆ ขึ้นสู่อวกาศ รวมทั้งส่วนการประกอบและทดสอบ (Integration and Testing (I&T) Facility) ทำหน้าที่ประกอบติดตั้งจรวดนำส่งและควบคุมการดำเนินการก่อนและหลังการส่งจรวดนำส่งสู่อวกาศ สำหรับส่วนสุดท้ายคือส่วนผู้ใช้งาน (User Segment) คือ ส่วนของการใช้ประโยชน์จากการดำเนินการของส่วนอวกาศและส่วนภาคพื้น โดยสามารถรับสัญญาณโดยตรงจากดาวเทียมหรือสถานีถ่ายทอดสัญญาณ ตลอดจนการใช้ประโยชน์รูปแบบอื่นจากกิจการอวกาศ
 
รูปแบบการพัฒนากิจการอวกาศรองรับยุทธศาสตร์ชาติ
            แนวคิดสำหรับการพัฒนากิจการอวกาศรองรับยุทธศาสตร์ชาติอันก่อให้เกิดประโยชน์ควรกำหนดแนวทางการดำเนินการด้วยเครื่องมือด้านบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ซึ่งเครื่องมือสำหรับการเป็นแนวทางการพัฒนากิจการอวกาศคือทฤษฎี 4M มีองค์ประกอบหลักสำคัญ ๔ ด้าน คือ Man หมายถึงบุคลากร Machine หมายถึง เครื่องมือซึ่งในที่นี้คือแพลตฟอร์มด้านอวกาศ Money หมายถึงการเงินหรืองบประมาณ และ Management หมายถึงการบริหารจัดการ อีกทั้งการดำเนินการด้านนี้ควรเป็นการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมอวกาศ ทำให้ต้องมีด้าน Marketing หมายถึงด้านการตลาด เพื่อนำสินค้าซึ่งมาจากการผลิตไปสู่ผู้ใช้งานหรือลูกค้าก่อให้เกิดความสมบูรณ์ต่อกระบวนการพัฒนาและผลิตเป็นสินค้ากิจการอวกาศ ดังนั้นเครื่องมือสำหรับการพัฒนากิจการด้านอวกาศคือ 4M + 1M ซี่งมีรายละเอียดการดำเนินการที่สำคัญในแต่ละองค์ประกอบดังนี้
 
ด้านที่ ๑ M-Man หรือด้านบุคลากร
            การดำเนินการด้านบุคลากรหรือการบริหารต้นทุนมนุษย์ (Human Capital) เป็นปัจจัยสำคัญแรก โดยเป็นต้นทุนที่มีค่ามากเมื่อเทียบกับด้านอื่น ดังนั้นแนวทางการพัฒนาด้านนึ้จึงมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรด้านกิจการอวกาศและการเพิ่มความสามารถให้กับบุคลากรในด้านนี้ด้วยการดำเนินการด้านการศึกษา
 
            การดำเนินการด้านการศึกษา ควรเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งหน่วยงานบริหารการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบการศึกษาด้านอวกาศให้สอดคล้องกับการพัฒนากิจการอวกาศ ตลอดจนควบคุม กำกับ ดูแล และประเมินหลักสูตรด้านอวกาศที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐาน อีกทั้งกำหนดแนวทางการวัดมาตรฐานของหลักสูตร บุคลากรทั้งผู้สอนและผู้ศึกษาสำหรับการปฏิบัติงานด้านอวกาศ อีกทั้งดำเนินการบริหารบุคลากรด้านการศึกษา
 
            การจัดตั้งและสนับสนุนสถานศึกษาเกี่ยวข้องด้านอวกาศ เช่น วิศวกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace Engineering) หรือเทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Aerospace Technology) ในทุกระดับ ได้แก่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยควรสนับสนุนให้มีความพร้อมด้านบุคลากรผู้สอน ทรัพยากรการเรียนการสอนและห้องปฏิบัติการ รวมทั้งสามารถกำหนดแนวทางการศึกษาไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานด้านอวกาศ ตลอดจนการส่งเสริมการทำการวิจัยในสถานศึกษา
 
            การจัดหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) หรือหลักสูตรเฉพาะ (Special Course) ด้านอวกาศ เป็นอีกแนวทางสำหรับการสร้างบุคลากรด้านอวกาศในงานเฉพาะทางหรือรองรับการปฏิบัติงานอย่างเร่งด่วนอีกทั้งการจัดการอบรมทบทวนความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านอวกาศเพื่อให้มีการทบทวนความรู้ด้านอวกาศและความรู้ที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถจัดให้มีการอบรมและการดูงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เกิดแนวความคิดในการพัฒนากิจการอวกาศให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย
 

            การสนับสนุนการศึกษาต่างประเทศ เนื่องจากกิจการประเภทนี้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและดำเนินการในต่างประเทศ ทำให้ต้องส่งบุคลากรไปศึกษาในประเทศที่มีการพัฒนาด้านอวกาศเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสมัยใหม่มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อไป

 
ด้านที่ ๒ M-Machine หรือด้านแพลตฟอร์ม (Platform)
            การพัฒนากิจการอวกาศ มีความจำเป็นต้องส่งเสริมการสร้างแพลตฟอร์มด้านอวกาศ สำหรับการประยุกต์ใช้งานทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยแพลตฟอร์มแต่ละด้านทำหน้าที่เฉพาะตัวสำหรับสนับสนุนให้แพลตฟอร์มทุกอย่างสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นแพลตฟอร์มที่สำคัญคือ 
 
ดาวเทียม (Satellite)
            ดาวเทียมเป็นแพลตฟอร์มหลักของกิจการอวกาศอยู่ในส่วนอวกาศ และเป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับการสร้างผลประโยชน์ เมื่อพิจารณารวมกับข้อจำกัดในเรื่องอายุการใช้งาน ดังนั้นควรจะมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้สามารถสร้างดาวเทียมภายในประเทศได้ เพื่อทดแทนการจัดหาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง อีกทั้งควรจัดทำเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างดาวเทียมตอบสนองความต้องการภายในประเทศและสามารถเป็นธุรกิจระหว่างประเทศ
 
ศูนย์ควบคุมและสั่งการ (Command and Control Center) และส่วนภาคพื้น (Ground Station)
            ด้วยดาวเทียมเป็นอุปกรณ์ที่โคจรในอวกาศ ทำให้ต้องมีการติดต่อสื่อสารและควบคุมจากพื้นโลก โดยมีส่วนภาคพื้นคือ ศูนย์ควบคุมและสั่งการและสถานีภาคพื้นทำหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้นการสร้างส่วนภาคพื้นประเภทนี้ ควรได้รับการสนับสนุนให้สร้างควบคู่กับการสร้างดาวเทียม บางครั้งการติดตั้งส่วนนี้อาจมีความจำเป็นต้องติดตั้งศูนย์ควบคุมสั่งการในลักษณะส่วนดำเนินการแยก ที่ติดตั้งห่างออกจากส่วนกลางหรือภายนอกประเทศเพื่อให้สามารถเพิ่มระยะเวลาการติดต่อกับดาวเทียมได้การรับส่งข้อมูล โดยเฉพาะเมื่อดาวเทียมโคจรไปอีกด้านหนึ่งของโลก
 
ซอฟต์แวร์ (Software)
            การทำงานของส่วนอวกาศและส่วนภาคพื้นจัดเป็นฮาร์ดแวร์ (Hardware) ด้านอวกาศ หากแต่ต้องมีซอฟต์แวร์ สำหรับการสั่งการควบคุมให้อุปกรณ์ทุกส่วนสามารถทำงานร่วมกันได้ ดังนั้นควรมีการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านอวกาศ ซึ่งจำเป็นต้องใช้บุคลากรด้านคอมพิวเตอร์เขียนและพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการทำงานด้านอวกาศ ประการที่สำคัญคือบุคลากรเหล่านี้ควรมีความเข้าใจการทำงานของส่วนอวกาศและส่วนภาคพื้นจึงจะสามารถเขียนซอฟต์แวร์ให้การทำงานสองส่วนมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้การสร้างหรือพัฒนาซอฟต์แวร์จึงมีความสำคัญควบคู่ไปกับการสร้างดาวเทียมและส่วนภาคพื้น ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อมกันตั้งแต่การเริ่มสร้าง
 
จรวดนำส่ง (Launch Vehicle หรือ Launcher)
            สำหรับอุปกรณ์ด้านอวกาศ จรวดนำส่งมีความสำคัญต่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ หากแต่จรวดนำส่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้เทคโนโลยีด้านอวกาศขั้นสูง และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากสำหรับการวิจัยและการสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันความต้องการใช้ประโยชน์จากการนำจรวดนำส่งกลับมาใช้งาน (Re-Use Rocket) ให้สามารถใช้งานได้อีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตามการให้ความสำคัญการพัฒนาจรวดนำส่งยังคงน้อยกว่าส่วนอื่น เนื่องจากยังมีหน่วยงานหรือบริษัทให้บริการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร (Launch Provider) สำหรับความสะดวกในการนำส่ง หากแต่ในบางครั้งการนำส่งในลักษณะนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและไม่ได้อำนวยความคล่องตัวตามภารกิจ โดยต้องรอความพร้อมของบริษัทนำส่ง ดังนั้นควรมีการเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ควบคู่กันจนกว่าถึงเวลาที่เหมาะสมและมีความพร้อมสำหรับการสร้างจรวดนำส่งด้วยตัวเอง
 
ส่วนอำนวยการด้านอวกาศ (Space Facility)
            การสร้างดาวเทียมนั้นมีความจำเป็นต้องใช้ส่วนอำนวยการด้านอวกาศ เพื่อสนับสนุนกระบวนการสร้าง (Manufacturing) และการทดสอบ (Testing) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดสอบการจำลองสภาพจริงในอวกาศ ปัจจุบันการสร้างดาวเทียมในอุตสาหกรรมอวกาศในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ไม่ประสบความสำเร็จหรือขาดแรงจูงใจจากภาคเอกชน เนื่องจากไม่มีส่วนอำนวยการด้านอวกาศภายในประเทศ จำเป็นต้องส่งไปดำเนินการต่างประเทศซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง และหากต้องการสร้างส่วนอำนวยการอวกาศ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตดาวเทียมสูงตามไปด้วย ดังนั้นภาครัฐต้องกำหนดหน่วยงานที่สามารถดำเนินการด้านกิจการอวกาศและลงทุนสร้างส่วนอำนวยความสะดวกเป็นส่วนกลางเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน สามารถใช้บริการได้ทั้งในกระบวนการสร้างและการทำการวิจัย อันเป็นการลดต้นทุนการผลิตในด้านกิจการอวกาศอย่างหนึ่ง โดยภาครัฐจะได้ผลตอบแทนในลักษณะภาษีจากอุตสาหกรรมอวกาศมาชดเชยเงินทุนสำหรับการสร้างส่วนอำนวยความสะดวกด้านอวกาศเมื่อธุรกิจด้านอวกาศเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
 
ด้านที่ ๓ M-Money หรือด้านการเงินหรืองบประมาณ
            การเงินหรืองบประมาณคือส่วนสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านอวกาศให้เป็นอุตสาหกรรมอวกาศ เพื่อให้กิจการด้านอวกาศของประเทศสามารถดำเนินการไปด้วยตัวกิจการเอง ดังนั้นการจัดการและบริหารการเงินหรืองบประมาณมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยต้องอาศัยการพิจารณาด้านงบประมาณของภาครัฐทั้งมาสนับสนุน รวมทั้งภาคเอกชนที่ต้องดำเนินการหาแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทุนสำหรับบริหารจัดการควบคู่กับแนวทางการลดต้นทุนการผลิต
 
การดำเนินการงบประมาณภาครัฐ
            การขับเคลื่อนการดำเนินการด้านอวกาศ จำเป็นต้องเริ่มจากภาครัฐตั้งแต่แนวความคิดการให้ความสำคัญกับกิจการด้านนี้และจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานรูปแบบต่างๆ ในภาพรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับการดำเนินการที่สำคัญ คือ
 
            การสนับสนุนงบประมาณสร้างส่วนอำนวยการด้านอวกาศ ซึ่งใช้สำหรับการสนับสนุนการการสร้างแพลตฟอร์มด้านอวกาศ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดความลังเลในการตัดสินใจการลงทุนในอุตสาหกรรมอวกาศของภาคเอกชน
 
            การสนับสนุนเงินกู้การลงทุนด้านอวกาศเชิงพาณิชย์สำหรับภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่สนใจ เนื่องจากธุรกิจด้านนี้ต้องใช้เงินทุนสูงและมีระยะเวลาคืนทุน (Payback Period) ค่อนข้างนาน โดยภาครัฐสามารถสนับสนุนเงินกู้ลักษณะของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือเงินกู้ชำระคืนระยะยาว โดยขึ้นกับแต่ละโครงการและประโยชน์ที่จะได้รับ
 
            การสนับสนุนเงินทุนการศึกษาด้านอวกาศเพื่อสร้างบุคลากรและแรงจูงใจสำหรับเข้ามาสู่ระบบการดำเนินการด้านอวกาศ ในรูปแบบผูกพันการปฏิบัติงานหลังจากจบการศึกษาหรือแบบไม่ผูกพัน และหากบุคคลเหล่านี้มีความสามารถและมีความประสงค์จะศึกษาต่อ ควรได้รับการส่งเสริมให้ศึกษาถึงระดับสูงสุด ซึ่งกล่าวได้ว่าการลงทุนด้านทุนมนุษย์ด้านอวกาศเป็นการลงทุนด้านอวกาศที่ได้ผลคุ้มค่าและมีระยะยาวหากสามารถทำงานได้จริง
 
            การสนับสนุนเงินทุนด้านการวิจัย เป็นการดำเนินการสำคัญสำหรับการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านอวกาศ (Innovation of Space Technology) ให้กับกิจการด้านอวกาศ หากแต่การวิจัยต้องมีทุนสำหรับการดำเนินการ ซึ่งภาครัฐควรเป็นส่วนแรกสำหรับการสนับสนุนทุนการวิจัยและเมื่อการวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงกับกิจการอวกาศทำให้ประหยัดงบประมาณจากการจัดซื้อและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสร้างมูลค่าต่อไป
 
            รูปแบบการดำเนินการด้านภาษี เป็นปัจจัยสำหรับการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอวกาศ โดยดำเนินการในรูปแบบการลดภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายประเภทหนึ่งของการทำธุรกิจ ซึ่งหากภาครัฐมีมาตรการลดภาษีเงินได้ให้กับภาคเอกชน ย่อมทำให้เกิดสภาพคล่องในการบริหารจัดการด้านการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเอกชนที่พึ่งเริ่มดำเนินการทำธุรกิจหรือกลุ่ม Startup อีกทั้งบริษัทสามารถสร้างความมั่นคงในระยะยาวได้ สำหรับอีกรูปแบบของการดำเนินการด้านภาษีคือการลดภาษีนำเข้า ในการสั่งซื้อพัสดุ อุปกรณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มด้านอวกาศ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต โดยบริษัทหรือหน่วยงานต้องแสดงได้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวนำไปใช้กับแพลตฟอร์มจริง และอีกรูปแบบหนึ่งของด้านภาษีคือการใช้งานผลิตภัณฑ์ด้านอวกาศที่ผลิตภายในประเทศ ภาครัฐสามารถส่งเสริมการใช้งานด้านนี้ได้ด้วยการนำค่าใช้จ่ายมาหักลดภาษีประจำปีตามอัตราที่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการใช้งานผลิตภัณฑ์ด้านอวกาศในประเทศมากขึ้น
 
การดำเนินการด้านการเงินภาคเอกชน
            ความสำคัญของกิจการอวกาศให้ยั่งยืนนั้น ต้องดำเนินการขับเคลื่อนกิจการอวกาศในรูปแบบการพาณิชย์ครบวงจร กล่าวคือสามารถผลิตแพลตฟอร์มและส่งมอบให้ผู้ใช้งานหรือลูกค้านำไปใช้งาน ดังนั้นภาคเอกชนต้องดำเนินการหาแนวทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกำไรสูงสุดบนพื้นฐานการส่งเสริมการตลาดและการขาย รวมทั้งการลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด ด้วยวิธีการที่เป็นรูปแบบเดียวหรือผสมผสานกัน
 
            การส่งเสริมการตลาดและการขาย โดยแพลตฟอร์มด้านอวกาศและส่วนประกอบด้านอวกาศอื่น เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องใช้เวลาสำหรับการวิจัย คิดค้น การสร้าง และการทดสอบใช้งาน ดังนั้นควรทำการตลาดเพื่อให้เกิดการสั่งซื้อโดยเร็ว และเพิ่มยอดขายให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้หากแพลตฟอร์มไม่เข้าสู่ตลาดหรือไม่ถึงผู้ใช้งาน รวมทั้งการไม่ทำการตลาด ย่อมเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจเป็นอย่างมาก ตลอดจนธรรมชาติของส่วนประกอบของแพลตฟอร์มนั้นมีระยะเวลาจำกัด ดังนั้นผู้ผลิตต้องมีกระบวนการด้านการตลาดและการขายเพื่อนำผลผลิตส่งมอบให้กับลูกค้าใช้งานตามรูปแบบธุรกิจให้เร็วที่สุด
 
            การสร้างกระบวนการลดต้นทุนการผลิต เป็นการบริหารรายจ่ายสำหรับการผลิตให้เหลือเท่าที่จำเป็น (Lean) ซึ่งธุรกิจด้านอวกาศมีขัอจำกัดคือการไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้ง่ายเนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่มีการใช้งานเฉพาะทาง อีกทั้งเป็นโครงการขนาดใหญ่มีระยะเวลาการขายนานและมีราคาสูง ทำให้การลดต้นทุนการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกำไรสามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจด้านอวกาศให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ได้แก่ การต่อรองกับบริษัทจัดหาวัสดุ (Supplier) การสร้างพันธมิตรสำหรับการจัดหาวัสดุ รวมทั้งการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้
 
            การสนับสนุนทุนการวิจัยสำหรับการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านอวกาศ โดยไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นที่จะสนับสนุนทุนการวิจัย ภาคเอกชนควรเข้ามามีส่วนร่วมเช่นเดียวกัน อันจะส่งผลดีในระยะยาวต่ออุตสาหกรรมด้านนี้ให้มีนวัตกรรมด้านอวกาศที่พัฒนาและก้าวหน้าอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อธุรกิจด้านอวกาศมีความพร้อมด้านการเงิน ควรสนับสนุนทุนการวิจัยเพื่อเสริมสร้างนวัตกรรมและเมื่อประสบความสำเร็จ ย่อมก่อให้เกิดคุณค่าทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับธุรกิจและเป็นสินค้าอันเป็นวัฏจักรของธุรกิจต่อไป
 
ด้านที่ ๔ M-Management หรือด้านบริหารจัดการ
            แนวทางบริหารจัดการกิจการด้านอวกาศเพื่อให้ได้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาตินั้น มีความจำเป็นต้องดำเนินการระดับประเทศ เพื่อดำเนินการกิจการอวกาศในภาพรวมให้เกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดตั้งหน่วยงานบริหารหลักและดำเนินการบริหารจัดการผ่านหน่วยงานนี้ ได้แก่
 
องค์กรบริหารด้านอวกาศ (Space Administrative หรือ Space Agency)
            การพัฒนากิจการอวกาศให้สอดคล้องและเป็นทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ ควรมีการจัดตั้งองค์กรบริหารด้านอวกาศของรัฐเพื่อทำหน้าที่กำหนดทิศทาง บริหารจัดการ ประสานงาน ควบคุม กำกับดูแล ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ทุกหน่วยงานด้านอวกาศทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับการสร้างประโยชน์สูงสุด อีกทั้งองค์กรนี้ต้องกำหนดนโยบายกิจการอวกาศของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการด้านกิจการอวกาศของชาติ รวมทั้งนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศและแปลงนโยบายกิจการอวกาศดังกล่าวเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินการอย่างชัดเจน
 
            นอกจากนั้นภายในองค์กรนี้ ควรจัดตั้งส่วนบริหารการศึกษาและการวิจัยด้านอวกาศ เพื่อบริหารจัดการวางกรอบนโยบายและสนับสนุนสถาบันการศึกษาให้มีมาตรฐานและทิศทางในการพัฒนากิจการอวกาศ รวมทั้งผู้สอนให้มีความรู้ความสามารถเหมาะแก่การพัฒนากิจการด้านนี้ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยเพื่อดำรงไว้ซึ่งการสร้างนวัตกรรมอวกาศอย่างต่อเนื่อง
 
            ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือส่วนบริหารจัดการบุคลากรด้านอวกาศเพื่อทำการวิเคราะห์ความต้องการ จำนวนและทักษะการทำงานด้านอวกาศ โดยมีแนวทางในการชักชวนบุคคลที่มีความรู้ด้านอวกาศเข้ามาปฏิบัติงานในสายงานกิจการอวกาศตามหน้าที่และความเหมาะสมตลอดจนวางแผนการใช้บุคลากรเหล่านี้ให้ปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
องค์กรรัฐวิสาหกิจด้านอวกาศ (Space Public Company)
            การขับเคลื่อนกิจการอวกาศมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องมีหน่วยงานด้านการพาณิชย์ของกิจการนี้ ในรูปขององค์กรรัฐวิสาหกิจด้านอวกาศ โดยได้รับงบประมาณจากภาครัฐสำหรับการลงทุนสร้างส่วนอำนวยการด้านอวกาศหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับงานด้านอวกาศ จากนั้นสามารถดำเนินการทำธุรกิจด้านอวกาศเพื่อแสวงหากำไรและนำผลกำไรนั้นคืนสู่รัฐ อีกทั้งดำเนินการวิจัย พัฒนา และสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านอวกาศในส่วนของรัฐ และสร้างแพลตฟอร์มเอง เช่น ดาวเทียม หรือส่วนภาคพื้น เพื่อใช้ในหน่วยงานภาครัฐที่มีความจำเป็นต้องใช้งานตลอดจนสำหรับการพาณิชย์ สำหรับอีกหน้าที่คือการสนับสนุนภาคเอกชนให้มีความสามารถในกิจการอวกาศ และส่งเสริมให้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นมีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน (Standard Audit and Approval) ของอุปกรณ์ด้านอวกาศ เพื่อรับรองแพลตฟอร์มที่มีการสร้างขึ้นภายในประเทศให้มีความน่าเชื่อถือต่อนานาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงพาณิชย์
 
หน่วยงานกฎหมายอวกาศ (Space Law Organization)
            หน่วยงานกฎหมายอวกาศ เป็นหน่วยงานสำคัญด้านกฎหมายทำหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแล กฎหมาย กฎและระเบียบที่สำคัญ เพื่อกำกับการดำเนินการกิจการอวกาศในประเทศให้เกิดความถูกต้องตามหลักสากล คุ้มครองผลประโยชน์ด้านอวกาศของหน่วยงานของรัฐและเอกชน อีกทั้งมีหน้าที่ติดตาม ประสานงานกับหน่วยงานกฎหมายอวกาศระดับนานาชาติ เพื่อให้การดำเนินการด้านอวกาศสอดคล้องเป็นไปตามข้อกำหนดสากลด้านอวกาศ
 
            สำหรับปัจจัยด้านการบริหารที่สำคัญ คือ รูปแบบการดำเนินการสำหรับเป็นแนวทางการบริหารประกอบด้วย ๒ รูปแบบ คือ การส่งเสริม (Supporting) และความร่วมมือ (Cooperation) โดยการส่งเสริมเป็นการให้หน่วยงานภายในประเทศใช้แพลตฟอร์มและสิ่งต่างๆ ด้านอวกาศที่สร้างหรือผลิตภายในประเทศก่อน ด้วยการส่งเสริมการใช้งานหรือการออกข้อกฎหมายหรือข้อบังคับ ซึ่งหากความสามารถของแพลตฟอร์มนั้นไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการ จึงสามารถจัดหาหรือใช้บริการแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ สำหรับความร่วมมือเป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน เมื่อมีแนวคิดที่จะดำเนินการผลิต สร้าง ปรับปรุง หรือทดสอบผลิตภัณฑ์ด้านอวกาศให้พิจารณาการใช้ความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศเป็นอันดับแรก เพื่อเป็นการบูรณาการความสามารถและใช้ประโยชน์ทรัพยากรในประเทศก่อนการพึ่งพาจากต่างประเทศ
 
ด้านที่ ๕ Marketing หรือด้านการตลาด
            กลไกการตลาดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกิจการอวกาศให้เป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ด้วยการการวางแผนตั้งแต่การผลิตจนได้ผลิตภัณฑ์ด้านอวกาศตามความต้องการต้องการซึ่งในที่นี้คือดาวเทียม และนำไปสู่ผู้ใช้งาน ตลอดจนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการตลาดของกิจการอวกาศมีการดำเนินการ ๒ กระบวนการ คือ
 
กระบวนการแรกคือการดำเนินการพัฒนาและการดำรงสภาพต่อเนื่อง ตามรูปแบบกระบวนการสร้างและใช้งานแพลตฟอร์มด้านอวกาศ (Space Platform Build and Usage Process) ตามภาพที่ ๒ ประกอบด้วยเจ็ดขั้นตอนคือ ขั้นตอนแรก การวิจัย/พัฒนาองค์ความรู้ (Knowledge-Based Research and Development) เป็นการศึกษา พัฒนาและการวิจัยความรู้ด้านอวกาศที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่สองการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม (Platform-Based Research and Development) เป็นกระบวนการนำความรู้มาใช้สำหรับการผลิตโดยการสร้างโมเดลเชิงวิศวกรรม (Engineering Model) เพื่อทดสอบระบบที่เกี่ยวข้องก่อนสร้างจริง ขั้นตอนที่สามคือการผลิตต้นแบบแพลตฟอร์ม (Platform Prototype Production) เป็นขั้นตอนสร้างต้นแบบแพลตฟอร์มหลังจากผ่านการทดสอบจากโมเดลวิศวกรรม ขั้นตอนที่สี่การทดสอบและรับรองต้นแบบแพลตฟอร์ม (Platform Prototype Testing and Certifying) เป็นขั้นตอนสำคัญในการทดสอบแพลตฟอร์มที่เหมือนจริงและดำเนินการรับรอง โดยเมื่อผ่านการรับรอง จึงดำเนินการขั้นตอนที่ห้าคือกระบวนการผลิต (Production Process) อันเป็นการผลิตแพลตฟอร์มสำหรับการใช้งานจริงแล้วนำมาผ่านขั้นตอนที่หกคือกระบวนการควบคุมคุณภาพ (Quality Control Process) เป็นการตรวจสอบการทำงานทั้งระบบอันเป็นการรับรองการทำงานของแพลตฟอร์ม สำหรับขั้นตอนที่เจ็ดคือการตลาดและจัดจำหน่าย (Marketing and Distributing) เป็นการทำการตลาดหรือให้ผู้สนใจเข้ามาใช้แพลตฟอร์มหรือบริการซึ่งอาจดำเนินการพร้อมกับขั้นตอนอื่นหรือก่อนดำเนินการผลิต และขั้นตอนสุดท้ายคือการใช้งาน (Usage) หรือใช้บริการแพลตฟอร์มซึ่งเป็นขั้นตอนการสร้างประโยชน์จากแพลตฟอร์ม และเมื่อมีการใช้งานย่อมเกิดความต้องการพัฒนารูปแบบแพลตฟอร์มที่ดีขึ้น ทำให้ต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มอันเป็นการกลับไปสู่ขั้นตอนแรกอีกครั้งและดำเนินการขั้นตอนอื่น ๆ จนกระทั่งได้แพลตฟอร์มใหม่ที่พัฒนา ทำให้เกิดเป็นวงจรการสร้างผลิตภัณฑ์ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
 
02 art
ภาพที่ ๒ รูปแบบกระบวนการสร้างและใช้งานแพลตฟอร์มด้านอวกาศ
 
            กระบวนการที่สองของด้านการตลาดคือการวางแผนบริหารจัดการตลาดเพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม โดยกลไกด้านการตลาด ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการดังนี้
 
การทำแผนการตลาด (Marketing Plan)
            ภาครัฐหรือภาคเอกชนควรจัดทำแผนการตลาดเกี่ยวกับการดำเนินการทั้งระบบของผลิตภัณฑ์ด้านอวกาศตั้งแต่การสร้างหรือผลิตจนถึงการส่งถึงผู้ใช้งาน และกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบในแต่ละขั้นตอน เพื่อทำให้ทราบงานแต่ละส่วนที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ผ่านกระบวนการตามขั้นตอน จนถึงการส่งมอบให้ผู้ใช้งาน โดยหากเมื่อเกิดปัญหาย่อมทำให้ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนใดและหน่วยงานใดรับผิดชอบ สามารถแก้ไขปัญหาได้ทัน ตลอดจนแต่ละหน่วยงานต้องมีการพัฒนางานที่รับผิดชอบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
 
การทำความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation)
            การขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศเป็นการดำเนินการสำคัญในการสร้างฐานผู้ใช้งานหรือลูกค้าภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยธรรมชาติผลิตภัณฑ์ด้านอวกาศมีมูลค่าสูง จึงมีความยากสำหรับการหาผู้ใช้งานหรือลูกค้าระดับย่อย ทำให้ต้องพิจารณาผู้ใช้งานหรือลูกค้าระดับประเทศหรือองค์กรขนาดใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมในการหาผู้ใช้งานหรือลูกค้าในระดับรัฐบาลด้วยกันและนำไปสู่องค์กรขนาดใหญ่ โดยใช้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลระดับทวิภาคี (Bilateral Relationship) หรือระดับพหุภาคี (Multilateral Relationship) ซึ่งวิธีดำเนินการทำได้ด้วยการให้การช่วยเหลือโดยไม่คิดมูลค่า การแลกเปลี่ยนสินค้า การค้า หรือการใช้หลายวิธีพร้อมกัน
 
การตลาดภายในประเทศ (Domestic Marketing)
            เมื่อพิจารณาผู้ใช้งานหรือลูกค้าภายในประเทศ ควรมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ใช้งานมาใช้แพลตฟอร์มที่ผลิตหรือสร้างในประเทศก่อน ด้วยการเห็นความสำคัญและคุณค่าของซึ่งผลิตหรือสร้างภายในประเทศ อีกทั้งการใช้มาตรการภาษีสำหรับการใช้บริการเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ หรือแม้แต่การใช้การตลาดภาคบังคับ (Regulatory Marketing) คือการที่ภาครัฐออกกฎหมายหรือข้อบังคับให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านอวกาศ ซึ่งสร้างหรือผลิตภายในประเทศก่อน หากไม่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นหรือมีแต่ไม่มีความสามารถสนองต่อการใช้งาน จึงสามารถจัดหาหรือใช้บริการจากต่างประเทศ
 
            สำหรับกิจการอวกาศที่สามารถประยุกต์ใช้กับด้านความมั่นคง หน่วยงานด้านความมั่นคงต้องเป็นหน่วยงานหลักสำหรับการใช้งานผลิตภัณฑ์ด้านอวกาศด้านความมั่นคง นอกจากนั้นยังต้องเป็นหน่วยงานสำหรับการทดสอบและรับรองผลการใช้งานเพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการด้านอวกาศมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น อีกทั้งหน่วยงานความมั่นคงควรสนับสนุนกิจการอวกาศในบริบทด้านความมั่นคงของชาติ
 
            ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ เพื่อเป็นแผนปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภายใต้กรอบการดำเนินการ กิจการอวกาศเป็นการดำเนินการที่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับชาติได้ด้วยการประยุกต์ใช้ผลผลิตหรือบริการด้านอวกาศ ซึ่งแต่ละประเทศได้พยายามพัฒนากิจการอากาศของตนเองเพื่อสนองต่อความต้องการการใช้งานที่เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นหากประเทศไทยได้มีการพัฒนากิจการอวกาศควรมีรูปแบบการดำเนินการและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพส่งผลทำให้การพัฒนากิจการอวกาศในรูปแบบอุตสาหกรรมอวกาศสามารถรองรับยุทธศาสตร์ชาติอันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดในยุทธศาสตร์
 
“มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
 
References
Chase, R. B. (1998). Production and Operations Management. McGraw-Hill.
Chirman of Joint Chiefs of Staff (CJCS). (2013). Chief of Staff.
Defense Intelligence Agency. Challenges to Security in Space.
European Commission. (2019). The Future of the European Space Sector.
บรรณานุกรม
๑ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ. (๒๕๕๙). ยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี (พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๘๐). กรุงเทพฯ.
๒ พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ....