ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะขีดความสามารถของการปฏิบัติการรบทางอวกาศ เช่น ขีปนาวุธที่ยิงจากพื้นเพื่อเข้าวงโคจรในอวกาศ โดยใช้แรงโน้มถ่วงของโลกในการเคลื่อนที่ ซึ่งทำให้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเชื้อเพลิงและระยะการใช้อาวุธ (Range) โดยหลายประเทศเริ่มพัฒนาขีปนาวุธระยะกลาง และระยะไกลที่มีประสิทธิภาพสูง ตลอดจนขีปนาวุธข้ามทวีปที่มีประสิทธิภาพสูงและแม่นยำเป็นอย่างยิ่ง เช่น ขีปนาวุธแบบ RS-28 Sarmat (Satan 2) ซึ่งเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ที่พัฒนาเสร็จสิ้นแล้วโดยสหพันธรัฐรัสเซีย สามารถยิงขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ ทำให้มีรัศมีการปฏิบัติการมากกว่า ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตร มีความเร็วมากกว่า ๒๐ เท่าของความเร็วเสียง มีความแม่นยำสูง โดยหัวรบสามารถแยกตัวออกเป็นกว่า ๑๕ ชิ้น เพื่อโจมตีเป้าหมายแต่ละที่ มีความคลาดเคลื่อนแต่ละชิ้นส่วนหัวรบน้อยกว่า ๑๐ เมตร เมื่อบูรณาการกับระบบ GNSS จะทำให้ยากต่อการตรวจจับและทำลายเป็นอย่างยิ่ง อีกหนึ่งขีปนาวุธแบบข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ Hwasong-15 ที่พัฒนาเสร็จสิ้นแล้วโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี สามารถยิงขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ ทำให้มีรัศมีการปฏิบัติการไกลมากกว่า ๑๓,๐๐๐ กิโลเมตร เป็นต้น
 
20210204 4
ขีปนาวุธข้ามทวีปแบบ Hwasong-15 ICBM
ที่มา : https://www.nknews.org
 
            อย่างไรก็ตามการใช้ขีปนาวุธข้ามทวีปดังกล่าวจะมีจุดอ่อนคือ ในช่วงแรกของการยิงจรวด (ก่อนเข้าสู่
วงโคจร) จรวดจะถูกปล่อยมาด้วยความเร็วและความเร่งต่ำในช่วงแรก อันเนื่องมาจากการจะต้องเอาชนะแรงดึงดูดของโลก ในช่วงนี้จะสามารถถูกตรวจจับและถูกสกัดกั้นทำลายได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฝั่งตรงข้ามมีข้อมูลการข่าวที่ดีจากการข่าวกรองผนวกกับข้อมูลจากดาวเทียมในอวกาศ จะสามารถระบุที่ตั้ง และเฝ้าตรวจการเคลื่อนไหวของการยิงจรวด ซึ่งสามารถตรวจสอบและดักจับการยิงจรวดเพื่อการลดขีดความสามารถหรือทำลายได้ด้วยระบบการต่อต้านขีปนาวุธ
 
            ดังนั้นการพัฒนาจรวดซึ่งใช้ขีดความสามารถจากความเร็วของวงโคจรอวกาศมาประยุกต์นั้น จะต้องพัฒนาจรวดขีปนาวธแบบ Hypersonic Missile ซึ่งเป็นจรวดที่ยิงขึ้นจากพื้นสู่อวกาศ และเมื่อได้ความเร็วที่ต้องการ ซึ่งโดยทั่วไปจะมากกว่า 10 เท่าความเร็วเสียง และได้พลังงานจากแรงดึงดูดโลก ประกอบกับข้อได้เปรียบจากการเร่งความเร็วของจรวดที่ไม่มีแรงเสียดทานเมื่ออยู่นอกขั้นบรรยากาศ จรวดจะปรับทิศทางของการลงสู่พื้น เพื่อให้ยากต่อการถูกตรวจจับและทำลาย เมื่อจรวดมีความเร็วต้นสูงในระดับหนึ่ง เมื่อได้รับพลังงานและความเร่งจากแรงดึงดูดของโลก จะทำให้จรวดจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่สูงมากยิ่งขึ้น และบังคับให้จรวดมีวิถีโคจรหรือวิถีการเคลื่อนที่ระดับต่ำ ทำให้ถูกสกัดกั้นได้ยากมากและสามารถบังคับให้สู่เป้าหมายด้วยความแม่นยำจากระบบ GNSS ทำให้เป็นอาวุธในยุคใหม่ที่มีความอันตรายเป็นอย่างยิ่ง
 
20210204 5
ขีปนาวุธข้ามทวีปแบบ Hypersonic Missile
ที่มา : www.military.com
 

เรียบเรียงโดย : น.อ.เพชรเดช เพชรช่วย