ภาพถ่ายการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ครอบคลุมมากที่สุดได้เปิดให้สาธารณชนได้เข้ารับชมได้แล้วผ่าน Google Earth โดยเกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง Google Earth, องค์การบริหารการบินอวกาศยุโรป (ESA), คณะกรรมาธิการยุโรป, นาซา และองค์การสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รวบรวมภาพถ่ายดาวเทียมจำนวน 24 ล้านภาพ ที่ได้ถูกบันทึกไว้ตลอดช่วง 37 ปีที่ผ่านมา ไปบรรจุลงใน Google Earth ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ได้
 
ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถที่จะดูการเปลี่ยนแปลงทางภูมิประเทศของโลกในช่วงเกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านฟีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า Timelapse ใน Google Earth อีกทั้งยังสามารถสังเกตเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงอันเป็นผลสืบเนื่องมากจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่ง การขยายตัวของเขตเมือง การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ เป็นต้น ด้านนางรีเบคคา มัวร์ (Rebecca Moore) ผู้อำนวยการ Google Earth กล่าวว่า การพัฒนาครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง โครงการ Copernicus ของสหภาพยุโรปซึ่งมีดาวเทียมถ่ายภาพ Sentinel และโครงการ Landsat ของนาซาและองค์การสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา โดยดาวเทียม Sentinel ของสหภาพยุโรปจำนวนหลายดวงที่โคจรอยู่รอบโลกนั้น ได้ถูกออกแบบให้มีภารกิจในการเก็บภาพถ่ายภูมิประเทศในบริเวณต่าง ๆ ของโลก ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมของสหภาพยุโรป ที่ต้องการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ และสร้างภาพ Timelapse ขึ้นมา
 
20200420 1

ภาพ Timelapse การเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งโคลัมเบีย บริเวณรัฐอลาสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา จาก Google Earth

 

สำหรับโครงการ Copernicus Sentinel-2 นั้น เป็นโครงข่ายดาวเทียมถ่ายภาพที่โคจรผ่านขั้วโลก (Polar Orbiting Satellite) จำนวนสองดวงที่อยู่ในวงโคจรเดียวกันและห่างกัน 180° เพื่อให้ครอบคลุมการปฏิบัติงาน และความกว้างของแนวถ่ายภาพอยู่ที่ 290 กิโลเมตร โดยจะโคจรผ่านจุดถ่ายภาพเดิมทุก ๆ 5 วัน และมีความละเอียดเชิงพื้นที่อยู่ที่ 10 เมตร

 

ฟังก์ชัน Timelapse นั้น เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ผ่านแพลทฟอร์มของ Google ซึ่งการเพิ่มภาพถ่ายดาวเทียมมากกว่า 20 ล้านภาพ ซึ่งถูกถ่ายไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 ถึง ค.ศ.2020 นั้น ต้องใช้ระยะเวลาประมวลผลจากคอมพิวเตอร์นับพันเครื่อง ในการเรียบเรียงภาพถ่ายขนาด 20 เพทาไบต์ (1 เพทาไบต์เท่ากับ 1024 เทราไบต์) เพื่อสร้างภาพ Timelapse ขนาด 4.4 เทระพิกเซลขึ้นมา สำหรับการใช้งาน Timelapse นั้น ผู้ใช้สามารถเลือกจุดที่สนใจได้ทุกที่บนโลกเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศในช่วงเวลาต่าง ๆ Google Earth จะทำการอัพเดท Timelapse เป็นประจำทุกปีเนื่องมาจากภาพถ่ายดาวเทียมที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

 

ที่มาของข่าว : https://www.esa.int/Applications/Observing_the_Earth/Satellite_imagery_key_to_powering_Google_Earth

แปลและเรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน