20210421 p1 
 

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 ศูนย์ข่าวขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NASA) ได้ประกาศความสำเร็จการบินเที่ยวแรกและเครื่องแรกของอากาศยานแบบเฮลิคอปเตอร์อินเจนนิวตี้ (Ingenuity) บนดาวอังคารหรือดวงดาวอื่นโดยควบคุมการบินมาจากโลก

เจ้าหน้าที่ของ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ในแคลิฟอร์เนียได้ยืนยันความสำเร็จจากข้อมูลที่ได้รับเฮลิคอปเตอร์ผ่านโรเวอร์เพอเซอเวอเรนซ์ (Perseverance Rover) ที่เป็นยานขับเคลื่อนภาคพื้นดินบนดาวอังคาร เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 เวลา 0046 ตามเวลาท้องถิ่นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หรือเวลา 1446 ตามเวลาประเทศไทย

เฮลิคอปเตอร์อินเจนนิวตี้ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เริ่มทำการบิน 0034 ตามเวลาท้องถิ่นแคลิฟอร์เนีย ซี่งตามเวลาบนดาวอังคาร (Local Mean Solar Time) คือ 1233 โดยเป็นเวลาที่เฮลิคอปเตอร์สามารถสร้างพลังงานได้สูงสุดพร้อมทำการบิน

เครื่องวัดความสูง (Altimeter) ของอินเจนนิวตี้ได้ชี้แสดงความสูงที่สามารถบินขึ้นไปเหนือพื้นเท่ากับ 3 เมตรหรือ 10 ฟุต จากนั้นเฮลคอปเตอร์รักษาสภาพการบินอยู่นิ่งกับที่ (Hover) ประมาณ 30 วินาที แล้วลดความสูงและลงพื้นอย่างปลอดภัย โดยใช้เวลาทำการบินได้ทั้งสิ้น 39.1 วินาที สำหรับรายละเอียดข้อมูลอื่นรอการส่งข้อมูลมายังโลกต่อไป

 20210421 p2
 
 

สำหรับการบินครั้งนี้เป็นการบินแบบอัตโนมัติ ซึ่งทำการควบคุมท่าทางการบิน การเคลื่อนที่และการนำร่องผ่านผ่านระบบอัลกอริทึมที่พัฒนาโดย JPL ที่ส่งขึ้นไป โดยไม่ได้มีการควบคุมการบินจากโลกด้วย Joy Stick ตามเวลาจริง (Real Time) เนื่องจากการรับและการส่งข้อมูลระหว่างโลกและดาวอังคารต้องใช้เวลาด้วยระยะทางที่ห่างกันมากและการสื่อสารต้องผ่านดาวเทียมหลายดวงตลอดจนผ่านระบบเนตเวิร์ค Deep Space Network

ด้านโรเวอร์เพอเซอเวอร์แรนซ์ ได้จอดอยู่ใกล้กับตำแหน่งการบินของเฮลิคอปเตอร์อินเจนนิวตี้ มีระยะห่าง 64.3 เมตร หรือ 211 ฟุต โดยทำหน้าที่ถ่ายภาพขณะเฮลิคอปเตอร์ทำการบิน อีกทั้งทำหน้าที่ตัวกลางส่งผ่านข้อมูลจากเฮลิคอปเตอร์มายังโลก

องค์การนาซาให้ชื่อพื้นที่การบินบนดาวอังคารครั้งนี้คือ Martian Airfield ซึ่งคล้ายกับเมื่อครั้งที่พี่น้องตระกูลไรท์ทำการบินครั้งแรกในปี พ.ศ.2446 หรือ ค.ศ.1903 ในพื้นที่การบินที่มีชื่อคือ Wright Brothers Field

ยิ่งไปกว่านั้นองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization หรือ ICAO) และองค์กรการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration หรือ FAA) ได้กำหนดนามเรียกขาน หรือ Call-Sign ของเฮลิคอปเตอร์อินเจนนิวตี้ คือ INGENUITY ที่มีตัวย่อคือ IGY  

ความท้าทายของการบินครั้งนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่ยังไม่ทราบและต้องทำการทดสอบเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านการลอยตัวขึ้นไปเหนือพื้นผิวของดาวอังคารที่มีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าโลกประมาณหนึ่งในสาม อีกทั้งสภาพบรรยากาศบนดาวอังคารที่มีความดันบรรยากาศเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับโลก ทำให้จำนวนโมเลกุลของอากาศมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับโลก สำหรับทำปฏิกิริยาแห่งอากาศกับพื้นที่เบลด (Blade) หรือใบพัดของอินเจนนิวตี้ทำให้เกิดแรงยก (Lift) อันถือได้ว่าการทดสอบการบินนี้เป็นการทดสอบการบินครั้งแรกในอวกาศ

การดำเนินการสำหรับเที่ยวบินต่อไป คาดว่าจะทำการบินในวันที่ 22 เม.ย.64 โดยครั้งนี้จะบินให้สูงกว่าเดิมที่ความสูง 5 เมตร และเคลื่อนที่ออกทางข้างประมาณ 2 เมตร และย้อนกลับมา 2 เมตร แล้วทำการลงจอดตำแหน่งที่ยกตัวขึ้นไป เช่นเดียวกันกับในเที่ยวบินที่สาม ซึ่งจะทำการบินไปประมาณ 50 เมตรและบินกลับมา

สำหรับโครงการ Mars 2020 กำหนดให้มีการดำเนินการบินทดสอบเฮลิคอปเตอร์อินเจนนิวตี้ 1 เดือน นับจากเฮลิคอปเตอร์ลำนี้ออกจากโรเวอร์เพอร์เซอเวอแรนซ์ โดยองค์การนาซา คาดว่าจะสามารถทำการบินได้ทั้งสิ้น 4 เที่ยวบิน

ด้วยความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้วิศวกรออกแบบเฮลิคอปเตอร์มีความคิดที่จะพัฒนาการเพิ่มขนาดจากเฮลิคอปเตอร์ลำนี้ที่มีน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม เป็น 25-30 กิโลกรัม สามารถสามารถบรรทุกสิ่งของได้ 4 กิโลกรัมสำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์

ความสำเร็จจากการบินครั้งนี้จะเป็นหนทางสำหรับภารกิจอื่นสำหรับการสำรวจดาวอังคารต่อไป

แปลและเรียบเรียง : นาวาอากาศเอก พนม อินทรัศมี

ที่มาของข่าวและภาพ :

https://spacenews.com/ingenuity-success-opens-door-for-future-mars-helicopter-missions/

https://www.nasa.gov/press-release/nasa-s-ingenuity-mars-helicopter-succeeds-in-historic-first-flight