ปัจจุบันธรรมชาติของการปฏิบัติการทางทหารมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตเป็นอย่างมาก การใช้กำลังทางทหาร แต่เพียงมิติเดียว เช่น การใช้กำลัง ทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ทางไซเบอร์ และทางอวกาศ นับว่าไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติการรบเพื่อให้ได้รับชัยชนะ
 
            ในอดีต ตัวอย่างของการใช้กำลังร่วมระหว่างมิติคือการใช้กำลังทางอากาศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางบก และทางเรือเพื่อให้ได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็ว เด็ดขาด โดยในการปฏิบัติการในอดีต ผู้ที่อยู่ในที่สูงกว่าจะมีความได้เปรียบจากการรบมากกว่า โดยเฉพาะในการใช้กำลังทางอากาศที่ใช้ความได้เปรียบจากความสูง และจากการปฏิบัติภารกิจด้วยความรวดเร็ว ทำให้สามารถโจมตีไปยังจุดศูนย์ดุล (Center of Gravity) เพื่อให้ได้ผลแพ้ชนะของสงครามด้วยความเด็ดขาด
 
01
รูปที่ 1 การใช้กำลังในมิติต่าง ๆ ร่วมกับการปฏิบัติการทางอวกาศ
ที่มา : The U.S. Army in Multi-Domain Operations 2028
 
            อย่างไรก็ตามการใช้กำลังทางอากาศ นับว่าเป็นการใช้กำลังที่มีต้นทุนสูง ทั้งจากราคาของยุทโธปกรณ์ และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา นอกจากนี้ยังมีการกำเนิดของเทคโนโลยีในยุคใหม่ หรือในมิติการรบใหม่ เช่น มิติไซเบอร์ และมิติอวกาศ ที่ต่างสามารถนำมาใช้ประกอบเพื่อทำให้การปฏิบัติการทางทหารเป็นไปอย่าง รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำจุดแข็งของการปฏิบัติการแต่ละโดเมนมาใช้ร่วมกัน ในการปฏิบัติการร่วมระหว่างมิติ (Cross Domain Operations)
 
            การปฏิบัติการรบร่วมระหว่างมิติ เป็นการบูรณาการขีดความสามารถของการใช้ทรัพยากรบุคคลและอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทั้งในการรบทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ทางอวกาศ และทางไซเบอร์ เพื่อให้กำลังรบสามารถได้รับชัยชนะจากข้าศึกอย่างเด็ดขาด รวดเร็ว ทำลายขีดความสามารถในการต่อต้านและขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองของข้าศึกอย่างสมบูรณ์ โดยวางแผนการโจมตีอย่างเป็นระบบสอดคล้องกับธรรมชาติการรบและเทคโนโลยีทางการรบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้กำลังทางไซเบอร์เพื่อสร้างขีดจำกัดหรือทำลายโครงสร้างพื้นฐานของระบบการป้องกัน การใช้กำลังในการโจมตีทางอวกาศ (Space Attack) เพื่อจำกัดขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญทางการรบ เช่นระบบการข่าว ระบบสื่อสารและโทรคมนาคม ระบบเพิ่มความแม่นยำทางการรบ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถใช้กำลังทั้งทางอวกาศ เพื่อทำลายโครงสร้างและยุทโธปกรณ์ทางกายภาพภายในประเทศจากระยะไกล โดยใช้ขีดความสามารถของจรวดนำวิถีระยะไกล (Long Range Missile)
 
02
03
รูปที่ 2 แนวความคิดการปฏิบัติการข้ามมิติ (Cross Domain Operations)
 
            เมื่อข้าศึกอ่อนกำลังลงจากการโจมตีจนไร้ขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองก็จะสามารถส่งกำลังในส่วนต่าง ๆ เช่น กำลังทางอากาศ กำลังทางเรือ และกำลังทางบก เพื่อเข้ายึดพื้นที่หรือประกาศชัยชนะ และเปิดหนทางสู่การเจรจาต่อรองต่อไป ซึ่งการปฏิบัติการข้ามมิตินี้จะทำให้กองทัพสามารถปฏิบัติการใช้กำลังด้วยความแม่นยำ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูง ลดโอกาสของการสูญเสียและบาดเจ็บของผู้ปฏิบัติการรบ ทำให้การรบในภาพรวมมีประสิทธิภาพสูงขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติการรบยุคใหม่ในปัจจุบันและในอนาคต เพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติสืบต่อไป