น.ต.หญิง ผณินทรา สุนทรหฤทัย


            ในปัจจุบันมีระบบดาวเทียมที่ใช้ในการสำรวจโลกและอวกาศจำนวนกว่า ๖๐๐ ดวง โดยมีการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากอวกาศมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียม เรดาร์ โซนาร์ หรือข้อมูลจากดาวเทียมประเภทอื่นๆ เช่น ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ดาวเทียมระบบนำทาง (Global Navigation Satellite Systems: GNSS) เพื่อช่วยประกอบในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศให้คุ้มค่าที่สุด
 
            การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศมีหลายด้านด้วยกัน อาทิ การทหาร การใช้งานด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ การทำเกษตรกรรมแบบแม่นยำสูง (Precision agriculture) การจัดการลุ่มน้ำ การวางผังเมือง การทำแผนที่พื้นมหาสมุทร (Bathymetry) การทำแผนที่ธรณีสัณฐาน หรือการเฝ้าระวังภัยพิบัติ เป็นต้น ตัวอย่างการใช้ประโยชน์ในด้านการเฝ้าระวังภัยพิบัตินั้น สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมในทุกขั้นตอนของวงรอบการจัดการภัยพิบัติ ทั้งนี้ข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้และทันเวลาล้วนเป็นส่วนสำคัญยิ่ง การประยุกต์ใช้ข้อมูลจากอวกาศและข้อมูลที่ได้รับจากเซนเซอร์ในอวกาศ ล้วนแล้วแต่ช่วยเสริมประสิทธิภาพให้แก่การจัดการภัยพิบัติ ทั้งการทำรีโมทเซนซิง การติดต่อสื่อสารด้วยดาวเทียม ระบบนำทางด้วยดาวเทียม นอกจากนี้ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยายังช่วยในการวางแผนเพื่อพยากรณ์และเตรียมรับมือภัยพิบัติเหล่านี้อีกด้วย ส่วนการใช้งานทางด้านการทหารนั้น สามารถใช้ได้ในหลายขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มวางแผนก่อนการรบโดยใช้ข้อมูลเพื่อตระหนักรู้สถานการณ์ก่อนเข้าพื้นที่จริง การประเมินปริมาณกับระเบิดจากภาพถ่ายดาวเทียมและการจัดทำแผนที่เพื่อใช้ประกอบการรบ
 
            จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีอวกาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น นับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ยุคของการแข่งขันทางอวกาศเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นต้นมา มนุษย์โลกก็ได้ใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศมากขึ้นเรื่อย ๆ และพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศโดยต่อยอดผ่านการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ และความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและอวกาศมากขึ้นต่อไป
 
อ้างอิง
Prasad S. Thenkabail et al., Remote Sensing Handbook Volume I: Remotely Sensed Data Characterization, Classification, and Accuracies, Taylor & Francis Group, p. 88.
GISTDA. (2020). อวกาศในชีวิตประจำวัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค.64, จากเว็บไซต์: https://www.gistda.or.th/main/th/node/3637
UNOOSA. (2021). Space Application. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค.64, จากเว็บไซต์:
https://un-spider.org/space-application
N2YO. (2021). SPACE & EARTH SCIENCE SATELLITES. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค.64, จากเว็บไซต์: https://www.n2yo.com/satellites/?c=26