20210204 3
            การรบโดยใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลางในมิติทางดิจิทัล โดยเชื่อมต่อแต่ละส่วนเข้าด้วยกันผ่านทางเครือข่ายรวม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาการตระหนักรู้สถานการณ์รวมถึงการตัดสินใจที่รวดเร็วและทันเหตุการณ์
 
            นับตั้งแต่ยุคของการแข่งขันทางอวกาศที่เริ่มโดยการส่งดาวเทียม Sputnik ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี ๑๙๕๗ การใช้ประโยชน์จากอวกาศก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในภาคทหารและภาคพลเรือน โดยเน้นการใช้งานด้านการติดต่อสื่อสาร รีโมทเซนซิง ระบบดาวเทียมนำทาง และอื่นๆอีกมากมาย ส่วนใหญ่เป็นการเริ่มใช้งานจากความต้องการทางทหาร เช่น ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System: GPS) ซึ่งเป็นระบบดาวเทียมนำทางของสหรัฐอเมริกาที่ใช้งานครั้งแรกในกองทัพเรือสำหรับตรวจสอบตำแหน่งเรือทุกชั่วโมง แม้จะอนุญาตให้ส่วนภาคพลเรือนและการใช้งานเชิงพาณิชย์ได้แต่ยังคงมีการจำกัดการใช้งานสำหรับภาคพลเรือนโดยจำกัดให้มีค่าความถูกต้องแม่นยำน้อยกว่าที่ใช้ในด้านการทหาร โดยมาตรการนี้เรียกว่า Selective Availability (SA) เริ่มใช้งานในปี ๑๙๙๑ เพื่อให้ฝ่ายทหารได้ใช้ประโยชน์จาก GPS อย่างเต็มที่และยกเลิกมาตรการนี้ในปี ๒๐๐๗ อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศนั้นส่วนใหญ่มักใช้งานร่วมกันระหว่างภาคทหารและพลเรือนโดยมีรัฐเป็นเจ้าของ เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงและต้องอาศัยสหวิทยาการหลายด้าน การใช้ประโยชน์ร่วมกัน (Dual-use) จึงเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะประเทศที่เพิ่งเริ่มต้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ
 
            ตัวอย่างการใช้ดาวเทียมเพื่อการสื่อสาร ได้แก่ ดาวเทียม MILSTAR และ AEHE โดยที่ MILSTAR ย่อมาจาก Military Strategic and Tactical Relay ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารในชั้นวงโคจรค้างฟ้าของสหรัฐอเมริกาที่ให้บริการในการติดต่อสื่อสารทุกมุมโลกสำหรับทหารสหรัฐอเมริกา และมีระบบป้องกันการส่งสัญญาณรบกวน ซึ่งแตกต่างจากบริการของดาวเทียมสื่อสารภาคพลเรือนที่ไม่ต้องการขีดความสามารถทางด้านการทหารระดับนี้ โดยดาวเทียม MILSTAR นี้มีมูลค่าสูงถึง ๘๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนดาวเทียม AEHF ย่อมาจาก Advanced Extremely High Frequency ที่จะใช้ทดแทนดาวเทียม MILSTAR โดยเป็นดาวเทียมในชั้นวงโคจรแบบเดียวกัน ในราคาราว ๑๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับดาวเทียม ๖ ดวงเพื่อการติดต่อสื่อสารและส่งวิดิโอ แผนที่ และข้อมูลต่างๆ แบบ Real Time สำหรับงานด้านการทหาร
 
            นอกจากนี้ ยังมีการใช้งานด้านรีโมทเซนซิงทั้งก่อนและระหว่างการรบ เพื่อให้ได้เปรียบข้าศึกในการตระหนักรู้สถานการณ์ก่อนการวางแผนทางยุทธศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่ยุคการส่งบอลลูนลมร้อน และการถ่ายภาพทางอากาศ จนกระทั่งถึงการถ่ายภาพจากดาวเทียมในปัจจุบัน ซึ่งมีการใช้งานที่หลากหลายทั้งดาวเทียมถ่ายภาพแบบ Optical อินฟราเรดและ UV รวมถึง การใช้คลื่นไมโครเวฟในการรับภาพ หรือใช้สัญญาณวิทยุ เป็นต้น ซึ่งในมุมมองของเหล่าทัพต่างๆทั่วโลกต่างเห็นพ้องกันว่า การสามารถเข้าถึงภาพถ่ายความละเอียดสูงได้ย่อมมีความสำคัญต่อการทหารในประเทศเหล่านั้น อีกทั้งในปัจจุบันมีการให้บริการภาพถ่ายดาวเทียมของ Google Earth ซึ่งเป็นการให้บริการแบบไม่มีค่าใช้จ่ายยิ่งทำให้ภาคทหารมีข้อกังวลมากขึ้นเนื่องด้วยภาพถ่ายเหล่านี้มีส่วนสำคัญต่อการวางแผนยุทธศาสตร์ การเตรียมกระจายกำลัง การเฝ้าตรวจ ระบุเป้าหมาย และประเมินข้าศึก ซึ่งล้วนแล้วแต่สำคัญยิ่งต่อระดับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่จะประเมินต่ำไม่ได้
 
            จากประโยขน์ของเทคโนโลยีอวกาศที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้นจะเห็นได้ว่ามีการนำมาประยุกต์ใช้งานทางทหารเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการใช้งานด้านการติดต่อสื่อสารที่ภาคพื้นไม่สามารถกระทำได้ หรือจำนวน Bandwidth ที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ยิ่งทำให้ต้องใช้ประโยชน์จากดาวเทียมมากขึ้นสำหรับการปฏิบัติการทหารในอนาคต ทั้งนี้ประชาคมโลกยังคงต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศภายใต้สนธิสัญญาที่กำหนดไว้ว่า ในการใช้งานห้วงอวกาศจะต้องเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยและมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานภายใต้กรอบสันติภาพแม้จะเป็นการใช้งานทางการทหารก็ตาม
 
อ้างอิง
Ricky J. Lee and Sarah L. Steele, Military Use of Satellite Communications, Remote
Sensing, and Global Positioning Systems in the War on Terror, Journal of Air Law and Commerce.
NATO. (2020). Game of drones? How new technologies affect deterrence, defence and security. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ม.ค.64, จากเว็บไซต์: https://www.nato.int/docu/review/articles/2020/05/05/game-of-drones-how-new-technologies-affect-deterrence-defence-and-security/index.html?

 

เรียบเรียงโดย : นาวาอากาศตรีหญิง ผณินทรา สุนทรหฤทัย