นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกได้เข้าสู่ยุคของสงครามเย็น ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจของโลกในขณะนั้นคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งกินระยะเวลาเกือบ 5 ทศวรรษ โดยในห้วงเวลาดังกล่าว กิจการด้านอวกาศได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น และทั้ง 2 ประเทศได้แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศในการนำส่งวัตถุต่าง ๆ ทั้งดาวเทียม สิ่งมีชีวิต และมนุษย์ออกไปยังนอกโลกเพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำในด้านอวกาศ จึงสามารถกล่าวได้ว่าทั้ง 2 ชาตินั้น เป็นผู้บุกเบิกกิจการทางอวกาศของโลก
 
            แท้จริงแล้วนั้นการนำวัตถุชิ้นแรกขึ้นไปยังอวกาศไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคของสงครามเย็น แต่ต้องย้อนกลับไปในช่วงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก็ไม่ได้เป็นประเทศแรกที่นำส่ง หากแต่เป็นประเทศเยอรมนีในยุคของอาณาจักรไรช์ที่ 3 หรือยุคนาซี ที่ได้นำส่งสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นออกไปยังอวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นั่นคืออาวุธปล่อยนำวิถีพิสัยไกลที่เรารู้จักกันในนาม จรวด V2 อันเลื่องชื่อ ซึ่งถูกส่งขึ้นไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค.1942 ด้วยความเร็ว 5 มัคที่ระดับความสูงประมาณ 84.5 กม.เหนือพื้นโลก จึงนับได้ว่าห้วงอวกาศนั้นได้ถูกนำมาใช้งานครั้งแรกของมนุษยชาติในภารกิจด้านความมั่นคง
 
20210402 2
ภาพจำลองจรวด V2 (แหล่งที่มา: BBC)
 
            อย่างไรก็ตามการบุกเบิกกิจการด้านอวกาศของประเทศเยอรมนีเป็นอันต้องสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วเมื่อรัฐบาลเยอรมันประกาศยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 8 พ.ค.1944 ส่งผลให้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ รวมไปถึงด้านอวกาศ ถูกถ่ายทอดไปยังประเทศผู้ชนะสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ที่ได้นำจรวด V2 ไปทำการทดสอบและนำกลุ่มนักวิจัยชาวเยอรมันไปทำการพัฒนาโครงการด้านอวกาศให้ประเทศของตน โดยหนึ่งในนั้นคือแวร์นแฮร์ ฟอน บราวน์ (Wernher von Braun) นักวิจัยและวิศวกรด้านอวกาศ ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจรวด V2 และจรวด Saturn V ของโครงการอพอลโลนั่นเอง
 
20210402 3
Wernher von Braun และจรวด Saturn V ในภารกิจ Apollo 11 (แหล่งที่มา: NASA)
 
            หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงเมื่อปี 1945 ประเทศเยอรมนีถูกแบ่งออกเป็นเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออก ทำให้องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านความมั่นคงทางอวกาศของเยอรมนีแทบจะตกอยู่ในสภาวะหยุดนิ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ทศวรรษ จนเมื่อวันที่ 3 ต.ค.1990 เยอรมนีได้กลับมารวมชาติอีกครั้งในชื่อ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กิจการด้านอวกาศจึงกลับมาได้รับความสำคัญ ตลอดจนได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือ DLR (Deutsches Zentrum für Luft- und Raumfahrt) ในปี 1997 ซึ่งมีสถาบันวิจัยภายใต้การกำกับดูแลประมาณ 40 แห่งทั่วประเทศ จึงนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นก้าวเดินอีกครั้งในการพัฒนากิจการด้านอวกาศ ซึ่งส่งผลถึงการพัฒนาความมั่นคงทางอวกาศของเยอรมันซึ่งจะกล่าวถึงในตอนถัดไป
 

แหล่งที่มา :
https://www.bbc.com/future/article/20140905-the-nazis-space-age-rocket
https://www.bredow-web.de/RAF_Museum/V-2_Rakete/v-2_rakete.html
https://time.com/5627637/nasa-nazi-von-braun/
https://warontherocks.com/2019/10/the-forgotten-rocketeers-german-scientists-in-the-soviet-union-1945-1959/
https://www.nasa.gov/centers/marshall/moonmars/apollo40/apollo11_vonbraun.html
https://www.grin.com/document/106937
https://www.dlr.de/dlr/Portaldata/1/Resources/documents/2019/DLR_FactsFigures_2017_DE_web.pdf

เรียบเรียง : ร.อ.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน