SpaceXSentinel 6 launch 1
 
            เมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2563 จรวดนำส่ง SpaceX Falcon 9 ประสบความสำเร็จในการยิงนำส่งดาวเทียม Sentinel-6 Michael Freilich จาก Space Launch Complex 4 (SLC 4) ฐานทัพอากาศเวนเดนเบร์ก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาเมื่อเวลา 09.17 ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับประเทศไทยคือ 00.17 ของวันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน 2563 โดยดาวเทียมได้แยกตัวออกจากส่วนบน (Upper State) ของจรวด หลักจากเริ่มการยิงนำส่งประมาณ 1 ชั่วโมง
 
            หลังจากที่จรวดนำส่งได้ยกตัวขึ้นประมาณสองนาที เครื่องยนต์หลักได้กับลงทำให้จรวดส่วนแรก (Stage-1) แยกตัวออกมา และเครื่องยนต์ส่วนที่สอง (Stage-2) เริ่มทำงาน สำหรับจรวดส่วนแรกซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ได้ (Reusable) ได้ทำการจุดระเบิดอัตโนมัติและลงจอดบนแพด (Pad) ที่ SLC 4 อย่างสำเร็จ
 
            หลังจากนั้นเครื่องยนต์ส่วนที่สองได้ดับลงประมาณ 8 นาทีนับจากเริ่มทำการยิงนำส่งและเริ่มจัดอีกครั้งใน 45 นาทีต่อมา ซึ่งเป็นตำแหน่งวงโคจรจอดชั่วคราว (Temporary Parking Orbit) และไม่กี่นาทีต่อมาดาวเทียมได้แยกตัวออกจากส่วนจรวดนำส่ง ส่วนของแผงโซลา (Solar Panel) ได้กางออกมาและดาวเทียมเริ่มติดต่อกับส่วนภาคพื้นใน 25 นาทีต่อมา
 
            ดาวเทียม Sentinel-6 เป็นดาวเทียมดวงแรกของสองดวง ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกันระหว่างหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่เกี่ยวข้องคือ องค์การบริหารการบินและอวกาศ (NASA) , องค์การบริหารด้านมหาสมุทรและบรรยกาศแห่งชาติ (NOAA), องค์การอวกาศยุโรป (ESA), องค์การสรรหาประโยชน์จากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยายุโรป (Eumetsat) และคณะกรรมาธิการยุโรป (The European Commission) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างแม่นยำ
 
            ดาวเทียมดวงนี้จะทำงานต่อเนื่องจากดาวเทียมดวงอื่นที่ได้รับการยิงนำส่งตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากดาวเทียม TOPEX/Poseidon ยิงนำส่งเมื่อปี 1992 ตามด้วยดาวเทียม Jason จำนวน 3 ดวงที่ยิงนำส่งเมื่อปี 2001, 2008 และ 2016 ตามลำดับ
 
            การส่งดาวเทียม Sentinel-6 ครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกสำหรับการร่วมมือระหว่าง NASA และ ESA ในการสร้างดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation Satellite) สร้างโดยบริษัท Airbus Defense and Space ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีน้ำหนัก 1,192 กิโลกรัม โดยมีลักษณะเด่นคือดาวเทียมติดตั้งแผงโซลาไว้ด้านบนเหมือนหลังคาเพื่อให้มีการสร้างพลังงานไฟฟ้าโดยไม่ต้องใช้การยื่นแผงโซลาและไม่มีมอเตอร์อันเป็นการลดการสั่นภายในดาวเทียมได้
 
            สำหรับเครื่องมือหลักของดาวเทียมคือ Radar Altimeter ของ ESA ซึ่งสามารถตรวจจับสัญญาณวิทยุจากมหาสมุทรเพื่อวัดระดับน้ำในทะเล รวมทั้งความสูงและความเร็วของคลื่นในทะเล และยังมีอุปกรณ์ Microwave Radiometer ซึ่งพัฒนาโดยหน่วยงาน Jet Propulsion Laboratory (JPL) สำหรับวัดปริมาณไอน้ำในบรรยากาศเพื่อให้ความถูกต้องกับ Radar Altimeter
 
            ดาวเทียมยังมีการติดตั้งเครื่องมือ Global Navigation Satellite System Radio Occultation (GNSS-RO) สำหรับการตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นของบรรยากาศสัมพันธ์กับสัญญาณของ GPS และดาวเทียมนำร่อง (Navigation Satellite) ดวงอื่น
 
            ชื่อของดาวเทียมนั้นได้จากนาซาและ ESA ตั้งเป็นเกียรติแก่ Michael Freilich ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง Director of NASA’s Earth Science Division โดยเป็นผู้สร้างโครงการ NASA’s Earth Science Program เป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี โดยได้เกษียณเมื่อปี ค.ศ.2019 และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
 

คำย่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข่าว
NASA : National Aeronautics and Space Administration (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ) NASA

NOAA : National Oceanic and Atmospheric Administration (องค์การบริหารด้านมหาสมุทรและบรรยกาศแห่งชาติ  NOAA

ESA : European Space Agency (องค์การอวกาศยุโรป) esa

Eumetsat : European Organization for the Exploitation of Meteorological Satellites (องค์การสรรหาประโยชน์จากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยายุโรป) eumetsat

 
ที่มาของข่าวและภาพ : https://spacenews.com/falcon-9-launches-sentinel-6-michael-freilich-ocean-science-satellite/
แปลและเรียบเรียง โดย นาวาอากาศเอก พนม อินทรัศมี