20201230 5
 
            จรวด Soyuz ได้นำส่งดาวเทียมลาดตระเวนของประเทศฝรั่งเศสเมื่อ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นกิจกรรมการส่งดาวเทียมครั้งสุดท้ายของปี 2020
 
            จรวด Soyuz ST-A ได้ยกตัวขึ้นจากฐานปล่อยจรวด Guiana เวลาท้องถิ่น 11:42 น. หลังจากเลื่อนการส่งไปหนึ่งวันด้วยเหตุผลทางสภาพอากาศที่ลมชั้นบนมีกำลังแรง และได้ส่งดาวเทียม The Composante Spatiale Optique (CSO) 2 ขึ้นสู่อวกาศได้ในเวลาราว 1 ชั่วโมงหลังจากจรวดยกตัวขึ้น
 
            จรวด CSO-2 สร้างโดยบริษัท Airbus Space and Defence สำหรับกองทัพฝรั่งเศส ดาวเทียมดวงนี้มีน้ำหนัก 3,562 กิโลกรัม ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์การถ่ายภาพที่ผลิตโดยบริษัท Thales Alenia Space สำหรับภาพถ่ายรายละเอียดสูงทั้งในช่วงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบ Optical และอินฟราเรด ทำให้สามารถสังเกตการณ์ได้ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ดาวเทียมดวงนี้เป็นดาวเทียมดวงที่สองในจำนวนทั้งหมดสามดวงของกลุ่มดาวเทียม CSO หลังจากการส่งดาวเทียม CSO-1 ขึ้นสู่อวกาศในเดือนธันวาคม 2018 ซึ่งดาวเทียมดวงนี้อยู่ในวงโคจร Sun-synchronous ที่ระยะสูง 800 กิโลเมตร เพื่อใช้ในภารกิจ"การลาดตระเวน"ของประเทศฝรั่งเศส ในขณะที่ดาวเทียม CSO-2 นั้นอยู่ในวงโคจรที่ระยะสูง 480 กิโลเมตร สามารถถ่ายภาพโดยมีรายละเอียดที่สูงกว่าซึ่งใช้สำหรับภารกิจ"ระบุเป้าหมาย" ส่วนดาวเทียมดวงที่สามหรือ CSO-3 นั้น ได้วางแผนจะส่งขึ้นสู่อวกาศในปี 2022 เพื่อเสริมภารกิจลาดตระเวนของดาวเทียม CSO-1
 
            การส่งขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจที่สามของจรวด Soyuz ในเดือนนี้สำหรับArianespace ครั้งที่หนึ่งคือการส่งดาวเทียมถ่ายภาพ FalconEye 2 จาก French Guiana สำหรับสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนการส่งครั้งที่สองของบริษัทฯ คือ การส่งกลุ่มดาวเทียม OneWeb จำนวน 36 ดวงขึ้นสู่วงโคจรจากฐานปล่อยจรวด Vostochny Cosmodrome ของประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.
 
            ในปีนี้ Arianespace ได้ส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศถึง 10 ครั้งแม้จะหยุดชะงักไปกว่า 5 เดือนในห้วงมี.ค.-ส.ค. เนื่องจากภาวะการระบาด นอกเหนือจากการส่งจรวด Soyuz ทั้งสามครั้งที่กล่าวไปแล้ว Arianespace ยังได้ส่งจรวด Soyuz เพื่อส่งดาวเทียม Oneweb จากฐานการปล่อยจรวด Baikonur Cosmodrome รวมถึงปล่อยจรวด Ariane5 สามครั้ง และจรวด Vega สองครั้งจาก French Guiana ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นการส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของสหภาพยุโรปจำนวน 2 ดวงในเดือน พ.ย. ซึ่งเกิดความผิดพลาดเนื่องด้วยปัญหาการเชื่อมต่อสายสัญญาณที่ผิดพลาดในระบบควบคุมการขับเคลื่อนของจรวดท่อนแรก
 
            ในปี 2020 มีการส่งจรวดทั้งสิ้น 114 ครั้ง ซึ่งเท่ากับในปี 2018 และมากกว่าปี 2019 ที่มีการส่งเพียง 102 ครั้ง ในปีนี้เกิดข้อผิดพลาดในการส่งจำนวน 10 ครั้งจากการส่งทั้งหมด 114 ครั้ง โดยเกิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 4 ครั้ง จากบริษัทของสหรัฐอเมริกา จำนวน 4 ครั้ง และอย่างละครั้งจากอิหร่านและสหภาพยุโรป โดยแบ่งเป็นการส่งจรวดของสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น 44 ครั้ง บริษัท Rocket Lab จากนิวซีแลนด์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา 7 ครั้ง สาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวน 39 ครั้ง สหพันธรัฐรัสเซีย 17 ครั้ง และ French Guiana 2 ครั้ง
 
ที่มาของข่าวและภาพ : https://spacenews.com/soyuz-launches-french-reconnaissance-satellite-in-final-2020-launch/
แปลและเรียบเรียง : นาวาอากาศตรีหญิง ผณินทรา สุนทรหฤทัย