กำลังขับ 63,300 ปอนด์ (pound-force) ทำความเร็วได้สูงสุด 1,004 กม./ชม. บินได้ไกล 14,045 km อัตราไต่สูงสุด 4,000 ฟุต/นาที เมื่อพูดถึงเครื่องบินพาณิชย์ทุกคนต้องนึกถึงเครื่องบินรุ่นนี้ เป็นเครื่องบินที่ได้ชื่อว่าปฏิวัติวงการการบินพาณิชย์โลก มีทั้งผู้นำ และบุคคลคนสำคัญของโลกหลายๆ ท่าน (หรือทุกท่าน) เคยโดยสารกับเครื่องบินรุ่นนี้ เครื่องบินมีหลากหลายรุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้หลายภารกิจทั้งพลเรือน-ทหาร และเคยเป็นอากาศยานที่หรูหราและบรรทุกผู้โดยสารได้มากที่สุดในโลก “Boeing-747”
 
20210107
Virgin Orbit's LauncherOne in its first launch attempt in May 2020. Credit: Virgin Orbit
 
            ในยุค 70 การปล่อยจรวดต้องอาศัยพื้นที่บนแผ่นดิน ในการสร้างฐานปล่อยจรวด/ท่าอวกาศยาน ซึ่งต้องใช้พื้นที่ที่ใหญ่โตและกว้าง ที่สำคัญพื้นที่โดยรอบต้องห่างไกลจากชุมชนหรือติดกับมหาสมุทร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากชิ้นส่วนของจรวด/อวกาศยานที่สลัดทิ้ง หรืออาจเกิดอุบัติเหตุตกใส่ แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีของจรวด การปล่อยจรวด ทำให้สามารถสร้างฐานปล่อยจรวดแบบต่างๆ ที่มีความสะดวก ปลอดภัยขึ้นมาเช่น ฐานปล่อยจรวดบนแคร่รถสายพานที่สามารถเคลื่อนที่ได้ ปืนใหญ่ปล่อยดาวเทียม ฐานปล่อยจรวดบนเรือที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร แต่ที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ ฐานปล่อยจรวดลอยฟ้า ซึ่งทำได้จริงและมีบริษัท เอกชนที่ดำเนินการอยู่อันได้แก่ บริษัท Virgin Orbit ประเทศสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้บริษัทในเครือของ Virgin มีอากาศยานที่สามารถดำเนินการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศอยู่แล้ว ได้แก่ White Knight Two และ SpaceShipTwo สามารถปล่อยจรวดแบบ LauncherOne ที่บรรทุกดาวเทียม CUBESAT ขึ้นสู่อวกาศ แต่ก็จำกัดด้วยน้ำหนักบรรทุก เพื่อให้สามารถปล่อยดาวเทียมได้มากขึ้น และขนาดของดาวเทียมที่ใหญ่ขึ้น จึงใช้เครื่องบินแบบ Boeing-747ER ของสายการบิน Virgin Atlantic บริษัทในเครือ Virgin มาดัดแปลงให้เป็น launch platform ในการปล่อยจรวด
 
            “Cosmic Girl” เครื่องนี้ มีชื่อเล่นอีกชื่อว่า “Mothership” หรือ “ยานแม่” ยานแม่ลำนี้ได้รับโอนจากสายการบินในเครือดังที่กล่าวไปก่อนหน้า ถูกดัดแปลง และมาอยู่ในการดูแลของ Virgin Orbit เมื่อปี 2017 โดยมีชื่อจดทะเบียน “N744VG” สำหรับตัวอากาศยานมีการติดตั้ง Pylon ทางโคนปีกด้านซ้ายสำหรับ จรวด LauncherOne ที่มีความยาว 21 ม. น้ำหนัก 500 กก. โดยน้ำหนักของจรวดนี้ขึ้นอยู่กับ ชนิด ขนาด และจำนวนของดาวเทียมที่จะปล่อยในภารกิจนั้นๆ จะปล่อยดาวเทียมที่อยู่ในวงโครจรต่ำ (low Earth orbit) สำหรับการปล่อยจรวดนักบินจะต้องนำ “Cosmic girl” ขึ้นไปที่ความสูง 35,000 ฟุตเหนือพื้นด้วยท่าทางบินไต่ที่มุมชันและทำการปล่อยจรวด LauncherOne ขึ้นสู่อวกาศดังภาพประกอบ สำหรับการทดสอบครั้งแรกได้ทำการทดสอบไปเมื่อ 25 พ.ค.2020 แต่ผลการทดสอบล้มเหลวเนื่องจาก หลังจากปล่อยจรวดและจรวดจุดตัวเรียบร้อยแล้ว เกิดปัญหากับระบบขับดันของจรวดใน Stage ที่ 1 ทำให้จรวดขัดข้องและตกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในที่สุด
 
            แม้ว่าในภารกิจแรกของ “Cosmic girl” จะล้มเหลว แต่ความผิดพลาดของภารกิจไม่ได้เกิดขึ้นที่ตัวของเครื่องบิน จึงยืนยันได้ว่าการใช้ Boeing-747 เป็น launch platform สามารถทำได้ และ Virgin Orbit ได้ออกแถลงการณ์แล้วว่า จะดำเนินภารกิจปล่อย LauncherOne ครั้งที่ 2 จาก “Cosmic girl” อีกครั้ง สำหรับภารกิจในครั้งนี้จะบรรทุกดาวเทียม CUBESAT จำนวน 10 ดวงขึ้นไปปล่อยด้วย โดยจะดำเนินการในวันที่ 13 ม.ค.2021 เวลา 2200 ตามเวลาประเทศไทย สำหรับความคืบหน้าภารกิจของ “สาวน้อยพลังคอสมิค” ในครั้งนี้ ทางเราจะนำมารายงานให้ทราบในบทความต่อไป
 
ที่มา
https://en.wikipedia.org/wiki/Cosmic_Girl_(aircraft)
https://www.flightglobal.com/analysis/analysis-cosmic-girl-ready-for-a-new-747-era/131278.article
https://www.ge.com/news/reports/shes-just-cosmic-girl-virgin-orbit-souped-jumbo-jet-will-give-satellites-space-lift
https://www.rocketlaunch.live/?filter=virgin-orbit
https://en.wikipedia.org/wiki/LauncherOne
แปลและเรียบเรียง : น.อ.สรยุธ จันทราชา