ทีมนักวิจัยจากสาธารณรัฐประชาชนจีน, สหรัฐอเมริกา, นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร ได้ค้นพบข้อมูลหลักฐานจากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาจากโครงการ DMSP (Defense Meteorological Satellite Program) จำนวน 4 ดวง ซึ่งยังไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ โดยหลักฐานดังกล่าวปรากฏให้เห็นการก่อตัวของ “พายุเฮอร์ริเคนอวกาศ” ซึ่งเกิดจากการไหลวนของมวลพลาสมาขนาดใหญ่เหนือบริเวณขั้วโลกเหนือเป็นเวลาหลายชั่วโมงและปลดปล่อยพลังงานในรูปของกระแสอนุภาคที่มีประจุในลักษณะของฝนอิเล็กตรอนที่ตกลงมายังชั้นบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ ด้านนายไมค์ ลอควูด (Mike Lockwood) นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยเรดดิง แห่งสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ทีมนักวิจัยยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพายุเฮอร์ริเคนพลาสมานี้เคยเกิดขึ้นมาก่อนหรือไม่ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อเป็นอย่างมาก
 
            การไหลวนของมวลพลาสมาที่ถูกบันทึกจากดาวเทียมได้เมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๔ นั้น มีการก่อตัวรวมถึงมีลักษณะคล้ายกับพายุเฮอร์ริเคนบนพื้นโลก แต่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑,๐๐๐ กิโลเมตรและเกิดขึ้นที่ระดับหลายร้อยกิโลเมตรเหนือพื้นโลกบริเวณขั้วโลกเหนือในช่วงเวลาที่ลมสุริยะสงบนิ่งและสนามแม่เหล็กโลกอ่อนกำลัง ซึ่งมีความแตกต่างจากพายุแม่เหล็กโลกอย่างสิ้นเชิง โดยพายุลูกนี้หมุนในทิศทางทวนเข็มนาฬิการาว ๘ ชั่วโมงก่อนที่จะสลายตัวลง ซึ่งจากการสังเกตการณ์รวมถึงการจำลองการเกิดพายุโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่า พายุเฮอร์เคนอวกาศนั้นเกิดขึ้นจากการจัดเรียงตัวของเส้นสนามแม่เหล็กโลกและสนามแม่เหล็กระหว่างดาวเคราะห์เพื่อเชื่อมต่อกันใหม่ ภายใต้สภาวะที่ลมสุริยะมีความหนาแน่นและความเร็วที่ต่ำมาก ซึ่งทำให้เกิดการถ่ายโอนพลังงาน อันเป็นที่มาของการก่อตัวของพายุดังกล่าว
 
20210310 1
 
            ถึงแม้ว่าจะมีการค้นพบพายุที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับพายุเฮอร์ริเคนบนดาวอังคาร, ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี ซึ่งเกิดจากการที่หมุนวนของก๊าซบริเวณชั้นบรรยากาศที่มีความสูงต่ำ แต่พายุเฮอร์ริเคนอวกาศที่ถูกบันทึกข้อมูลไว้เมื่อปี ค.ศ.๒๐๑๔ นั้น เกิดขึ้นบริเวณชั้นบรรยากาศที่มีความสูงและในบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กที่อ่อนแรงซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถอนุมานได้ว่าพายุเฮอร์ริเคนอวกาศนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในจักรวาลอีกด้วย
 
เรียบเรียบและแปลโดย ร.ท.ณัฐดนัย วิศิษฏ์โยธิน
ที่มา: https://www.universetoday.com/150395/earths-atmosphere-can-generate-a-space-hurricane/